ดาวโจนส์พุ่งไม่หยุด ล่าสุดทะยานกว่า 200 จุด ทะลุแนว 34,000

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 28, 2023 23:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพุ่งขึ้นกว่า 200 จุด ทะลุแนว 34,000 จุดในวันนี้ ซึ่งเป็นวันซื้อขายสุดท้ายของเดือนเม.ย.

ขณะนี้ ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 2.1% นับตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. และหากปิดตลาดในแดนบวกวันนี้ ก็จะทำให้ดาวโจนส์ทำสถิติดีดตัวขึ้นในเดือนนี้มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.

ณ เวลา 23.27 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,030.70 จุด บวก 204.54 จุด หรือ 0.6%

ตลาดได้แรงหนุนจากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 63.5 ในเดือนเม.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 62.0 ในเดือนมี.ค.

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและในช่วง 6 เดือนข้างหน้าต่างดีดตัวขึ้น

นักลงทุนยังคงจับตาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยขณะนี้ บริษัทในดัชนี S&P 500 จำนวน 260 แห่งได้รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 1/2566 แล้ว ซึ่งบริษัทในกลุ่มดังกล่าวจำนวนราว 80% รายงานผลกำไรที่ดีกว่าคาด

อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ซึ่งเป็นธนาคารในระดับภูมิภาคของสหรัฐ ร่วงลงอย่างหนักในการซื้อขายวันนี้ หลังมีรายงานว่า บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) มีแนวโน้มที่จะเข้าพิทักษ์ทรัพย์ของ FRB

หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปี 2566 ราคาหุ้น FRB ได้ทรุดตัวลงมากกว่า 90% ขณะที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อ FRB หลังการล้มละลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB)

สำนักข่าว CNBC รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวระบุว่า FDIC มีแนวโน้มที่จะเข้าพิทักษ์ทรัพย์ของ FRB เนื่องจากภาคเอกชนซึ่งนำโดยกลุ่มที่ปรึกษาของ FRB ยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการฟื้นฟูกิจการของ FRB

สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันนี้ โดยดัชนีดังกล่าวเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2-3 พ.ค.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 5.1% ในเดือนก.พ.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมี.ค. และชะลอตัวจากระดับ 0.3% ในเดือนก.พ.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.5% แต่ชะลอตัวจากระดับ 4.7% ในเดือนก.พ.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนแรงงานที่กว้างที่สุด เพิ่มขึ้น 1.2% ในไตรมาส 1/2566 เมื่อเทียบรายไตรมาส โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.0% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.1% ในไตรมาส 4/2565

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี ECI พุ่งขึ้น 4.8% จากระดับ 4.0% ในไตรมาส 4/2565

ทั้งนี้ ดัชนี ECI ถือเป็นมาตรวัดที่น่าเชื่อถือในการชี้วัดตลาดแรงงาน และเป็นดัชนีคาดการณ์ที่ดีสำหรับอัตราเงินเฟ้อซึ่งเฟดให้ความสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ