ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (5 พ.ค.) ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นคิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. โดยได้แรงหนุนจากการที่ราคาหุ้นแอปเปิ้ลพุ่งขึ้นมากกว่า 4% หลังการเปิดเผยผลประกอบการที่สดใส และจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,674.38 จุด เพิ่มขึ้น 546.64 จุด หรือ +1.65%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,136.25 จุด เพิ่มขึ้น 75.03 จุด หรือ +1.85% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,235.41 จุด เพิ่มขึ้น 269.01 จุด หรือ +2.25%
อย่างไรก็ตาม ดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 ยังคงปิดตลาดลดลงในรอบสัปดาห์นี้ ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดบวกเล็กน้อยในรอบสัปดาห์นี้
ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ร่วงลงวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.
ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่หุ้นกลุ่มธนาคารภูมิภาคดีดตัวขึ้นจากการติดลบที่เกิดจากการล้มของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ ขณะที่นักวิเคราะห์ได้ปรับเพิ่มคำแนะนำลงทุนหุ้นธนาคารดังกล่าวจำนวนมาก หลังจากที่ถูกเทขายมากเกินไป
ดัชนี KBW หุ้นกลุ่มธนาคารภูมิภาค พุ่งขึ้น 4.7% โดยหุ้นแพคเวสต์ แบงคอร์ป ทะยานขึ้น 81.7% และหุ้นเวสเทิร์น อัลไลแอนซ์ แบงคอร์ป พุ่งขึ้น 49.2%
การปรับตัวขึ้นของหุ้นแอปเปิลช่วยหนุนหุ้นอื่น ๆ ในกลุ่มเทคโนโลยีขึ้นด้วย และหุ้นทั้ง 11 กลุ่มในดัชนี S&P500 ปิดตลาดในแดนบวก
หุ้นแอปเปิ้ล พุ่งขึ้น 4.7% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. แตะระดับสูงสุดในรอบราว 9 เดือน หลังเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ซึ่งได้ช่วยคลายความวิตกของนักลงทุนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม โดยบรรดานักลงทุนวิตกว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยในที่สุด
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น 253,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. มากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าอาจเพิ่มขึ้นเพียง 180,000 ตำแหน่ง แม้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงและเกิดวิกฤติภาคธนาคาร ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.4% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจอยู่ที่ 3.6% และทำสถิติต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2512 ขณะเดียวกันตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญตัวหนึ่งนั้น เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ทั้งรายเดือนและรายปี
เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เมื่อวันพุธ (3 พ.ค.) ตามคาด ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่าวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากเฟดยังคงวิตกอย่างมากเกี่ยวกับเงินเฟ้อ