ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะยานกว่า 200 จุด ทะลุแนว 34,000 จุดในวันนี้ ขานรับผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของสหรัฐ
นอกจากนี้ นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2566 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ณ เวลา 22.44 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,068.50 จุด บวก 215.84 จุด หรือ 0.64%
หุ้นกลุ่มธนาคารพุ่งขึ้นนำตลาดวันนี้ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤตประจำปีของภาคธนาคาร โดยระบุว่า ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐทั้ง 23 แห่งสามารถผ่านการทดสอบดังกล่าว
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2566 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.0% ในไตรมาสดังกล่าว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.4% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ระดับ 1.1% และ 1.3% ตามลำดับ
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ในการเสวนาว่าด้วยเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งธนาคารกลางสเปนจัดขึ้นที่กรุงมาดริดในวันนี้
ส่วนในการเสวนาว่าด้วยนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ซึ่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดขึ้นที่โปรตุเกสวานนี้ นายพาวเวลส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.และก.ย.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะปิดฉากการซื้อขายเดือนมิ.ย.ในวันพรุ่งนี้ รวมทั้งสิ้นสุดไตรมาส 2 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566
ข้อมูลบ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทให้ผลตอบแทนเกือบ 15% ในช่วงครึ่งปีแรก โดยดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 14% ในช่วงดังกล่าว ขณะที่ดัชนี Nasdaq ทะยานขึ้น 30% ทำสถิติปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกดีที่สุดนับตั้งแต่มีการเริ่มใช้ดัชนี Nasdaq ในปี 2514 หรือในรอบกว่า 50 ปี ส่วนดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้น 2% จากต้นปี 2566
ดัชนีดาวโจนส์, S&P 500 และ Nasdaq พุ่งขึ้นในเดือนมิ.ย.และไตรมาส 2 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง รวมทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ หลังจากที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งติดต่อกัน
ข้อมูล ณ ขณะปิดตลาดเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ระบุการปรับตัวของดัชนีดาวโจนส์, S&P 500 และ Nasdaq ในเดือนมิ.ย.และไตรมาส 2 เป็นดังนี้ :-
-ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 2.5% ในเดือนมิ.ย. โดยเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.
-ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 1.3% ในไตรมาส 2 โดยเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2565
-ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 4.7% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.
-ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 6.5% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3
-ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 3.1% ในเดือนมิ.ย.
-ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 9.1% ในไตรมาส 2
นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันพรุ่งนี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)