ดาวโจนส์ร้อนแรงทะยานกว่า 300 จุด ก่อนปิดฉากเดือนมิ.ย./Q2/H1 วันนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday July 1, 2023 01:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะยานกว่า 300 จุดในวันนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยว่าผู้บริโภคสหรัฐมีความเชื่อมั่นมากกว่าคาด

ณ เวลา 01.06 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,442.33 จุด บวก 319.91 จุด หรือ 0.94% ส่วนดัชนี S&P 500 และ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า 1%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.8% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 4.3% ในเดือนเม.ย.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 0.4% ในเดือนเม.ย.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 4.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% จากระดับ 4.7% ในเดือนเม.ย.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.4% ในเดือนเม.ย.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 64.4 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.9 จากระดับ 59.2 ในเดือนพ.ค.

ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และวิกฤตเพดานหนี้สหรัฐ

นอกจากนี้ ตลาดได้ปัจจัยบวกจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งวานนี้ โดยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2566 ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.0% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.4% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ระดับ 1.1% และ 1.3% ตามลำดับ ขณะที่ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 26,000 ราย สู่ระดับ 239,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 265,000 ราย

บริษัทแอปเปิล อิงค์ มีมูลค่าตลาดมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ในการซื้อขายวันนี้

ณ เวลา 21.01 น.ตามเวลาไทย ราคาหุ้นแอปเปิลพุ่งขึ้น 1.53% สู่ระดับ 192.48 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

จากการคำนวณของสำนักข่าว CNBC พบว่า แอปเปิลจำเป็นต้องทะลุผ่านราคา 190.73 ดอลลาร์เพื่อให้มีมูลค่าตลาดมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี วันนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่แอปเปิลมีมูลค่าตลาดมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ โดยแอปเปิลเคยทำสถิติเป็นบริษัทจดทะเบียนแห่งแรกของสหรัฐและของโลกที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ในการซื้อขายระหว่างวันของวันที่ 22 ม.ค.2565 แต่แอปเปิลไม่สามารถรักษาสถิติขณะปิดตลาดในวันดังกล่าว

ทั้งนี้ ราคาหุ้นแอปเปิลพุ่งขึ้นราว 47% ตั้งแต่ต้นปี 2566

ก่อนหน้านี้ แอปเปิลทำสถิติมีมูลค่าตลาดแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2561 ก่อนที่จะใช้เวลาราว 2 ปีในการทำสถิติ 2 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2563

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะปิดฉากการซื้อขายเดือนมิ.ย. รวมทั้งสิ้นสุดไตรมาส 2 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ในวันนี้

ข้อมูล ณ ขณะปิดตลาดวานนี้ ระบุการปรับตัวของดัชนีดาวโจนส์, S&P 500 และ Nasdaq ในเดือนมิ.ย., ช่วงไตรมาส 2 และช่วงครึ่งปีแรก เป็นดังนี้ :-

-ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 3.69% ในเดือนมิ.ย. ปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2565

-ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 2.55% ในไตรมาส 2 ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3

-ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 2.94% ในช่วงครึ่งปีแรก

-ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 5.18% ในเดือนมิ.ย. ปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. และปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 4

-ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 6.99% ในไตรมาส 2 ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3

-ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 14.51% ในช่วงครึ่งปีแรก ทำสถิติปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2561

-ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 5.07% ในเดือนมิ.ย. ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4

-ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 11.2% ในไตรมาส 2 ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2

-ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นเกือบ 30% ในช่วงครึ่งปีแรก ทำสถิติปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2526


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ