ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลง ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน
ณ เวลา 20.36 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,449.59 จุด ลบ 59.44 จุด หรือ 0.17%
บริษัทในดัชนี S&P 500 จำนวน 30 แห่งเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 2/2566 ในวันศุกร์ที่แล้ว ซึ่ง 80% ในจำนวนดังกล่าวรายงานกำไรสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก FactSet ระบุว่า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บริษัทในดัชนี S&P 500 จะรายงานตัวเลขกำไรลดลง 7% ในไตรมาส 2/2566 ซึ่งจะเป็นผลประกอบการที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2/2563 ซึ่งขณะนั้นกำไรของบริษัทในดัชนี S&P 500 ทรุดตัวลง 31.6%
ส่วนข้อมูลจาก Refinitiv ระบุว่า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บริษัทในดัชนี S&P 500 จะรายงานตัวเลขกำไรลดลง 6.4% ในไตรมาส 2/2566
คาดว่าการซื้อขายในตลาดจะขาดปัจจัยชี้นำจากการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 25-26 ก.ค.
ทั้งนี้ กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นต่อสาธารณะ หรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC
นักลงทุนเทน้ำหนักมากกว่า 90% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในสัปดาห์หน้า
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 96.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. และให้น้ำหนักเพียง 3.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%
นอกจากนี้ ตลาดมองว่าเฟดใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ต่ำกว่าคาด โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้เป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
ทั้งนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 40.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค.2567 โดยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากระดับ 35.0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว