ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันพุธ (26 ก.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามคาด และส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาต
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,520.12 จุด เพิ่มขึ้น 82.05 จุด หรือ +0.23%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,566.75 จุด ลดลง 0.71 จุด หรือ -0.02% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,127.28 จุด ลดลง 17.27 จุด หรือ -0.12%
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี และเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 11 นับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยรวม 5.25%
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดแถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินในอนาคตนั้น เฟดจะตัดสินใจในการประชุมเป็นรายครั้ง รวมทั้งพิจารณาถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในเวลานั้น โดยเฟดจะจับตาข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น
ในระหว่างการแถลงข่าว นายพาวเวลไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหากจำเป็น โดยกล่าวว่า "มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมเดือนก.ย. หากข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวสนับสนุนให้เราดำเนินการเช่นนั้น และในขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ที่เราอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. หากการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับจุดยืนด้านนโยบายของเรา"
นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์กล่าวว่า แถลงการณ์ของเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต อย่างไรก็ดี ทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ยังคงคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย.
ขณะที่นักวิเคราะห์จากบริษัท Northwestern Mutual Wealth Management กล่าวว่า "ถ้อยแถลงของนายพาวเวลมีความชัดเจนว่า เฟดจะรอดูข้อมูลเศรษฐกิจก่อนที่จะตัดสินใจครั้งต่อไป และผมคิดว่าเฟดจะไม่หยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะเห็นการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากค่าจ้าง (wage inflation)"
ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวผันผวนหลังจากนักลงทุนรู้ผลประชุมเฟดและถ้อยแถลงของนายพาวเวล โดยดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นเล็กน้อย หลังได้แรงหนุนจากผลประกอบการที่ดีเกินคาดของบริษัทโบอิ้ง แต่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบ
ทั้งนี้ หุ้นโบอิ้ง ทะยานขึ้น 8.72% หลังบริษัทเปิดเผยรายได้ในไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 1.975 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.845 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยได้แรงหนุนจากการผลิตและส่งมอบเครื่องบินที่ปรับตัวสูงขึ้น
หุ้นโคคา-โคล่า พุ่งขึ้น 1.3% หลังบริษัทเปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 2/2566 ที่ระดับ 78 เซนต์ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 72 เซนต์
หุ้นอัลฟาเบทซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล พุ่งขึ้น 5.78% หลังบริษัทเปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 1.44 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.21 ดอลลาร์ในไตรมาส 2/2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.34 ดอลลาร์ โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของธุรกิจคลาวด์คอมพิวติง
หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ ปรับตัวขึ้น 1.4% หลังจากธุรกิจคลาวด์ในเครือของบริษัทอาลีบาบายืนยันว่าจะสนับสนุน "LLaMA" ซึ่งเป็นโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) แบบโอเพนซอร์ซ" (open-source) ของเมตา
หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 3.72% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรและรายได้สูงกว่าคาดในไตรมาส 4 ของปีงบการเงิน 2566 แต่บริษัทเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบในไตรมาส 1 ของปีงบการเงิน 2567 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
หุ้นสแนป เจ้าของแอปพลิเคชันสแนปแชท (Snapchat) ดิ่งลง 14.23% หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์รายได้ในไตรมาส 3/2566 ที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 2.5% สู่ระดับ 697,000 ยูนิตในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 725,000 ยูนิต จากระดับ 715,000 ยูนิตในเดือนพ.ค. โดยยอดขายบ้านใหม่ได้รับผลกระทบจากราคาบ้านที่อยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่ปรับตัวสูงขึ้น
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยในวันนี้จะมีการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิ.ย., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2566 และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนมิ.ย.
ส่วนในวันพรุ่งนี้จะเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมิ.ย. โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)