ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 300 จุด หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซา
ณ เวลา 22.58 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,678.82 จุด ลบ 328.06 จุด หรือ 0.96%
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 8.7% สู่ระดับ 675,000 ยูนิตในเดือนส.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 695,000 ยูนิต จากระดับ 739,000 ยูนิตในเดือนก.ค.
ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 103.0 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 105.5 จากระดับ 108.7 ในเดือนส.ค.
ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมทั้งความวิตกเกี่ยวกับการปิดหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ หรือชัตดาวน์ในวันที่ 1 ต.ค.
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทถูกกดดันจากการที่นักลงทุนวิตกว่าการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย
นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐ กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
คำกล่าวของนายไดเมนสอดคล้องกับเจ้าหน้าที่เฟดหลายราย เช่น นางมิเชล โบว์แมน ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกบอร์ดผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ และนางซูซาน คอลลินส์ ประธานเฟด สาขาบอสตัน ซึ่งกล่าวสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หากเงินเฟ้อยังคงไม่ชะลอตัวลง
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี
อย่างไรก็ดี ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (dot plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปี 2567 จากเดิมที่เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งในปีหน้า ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.3% ในเดือนก.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนส.ค. จากระดับ 0.2% ในเดือนก.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 3.9% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 4.2% ในเดือนก.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% จากระดับ 0.2% เช่นกันในเดือนก.ค.
ขณะเดียวกัน นักลงทุนมีความวิตกเกี่ยวกับการปิดหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ หรือชัตดาวน์ในวันที่ 1 ต.ค. หากสภาคองเกรสยังคงไม่มีความคืบหน้าในการผ่านร่างงบประมาณชั่วคราว และส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามเป็นกฎหมายภายในวันที่ 30 ก.ย.