ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคาร (26 ก.ย.) โดยดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีต่างก็ดิ่งลงกว่า 1% เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาด และความเสี่ยงที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐจะถูกปิดการดำเนินงาน หรือชัตดาวน์
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,618.88 จุด ลดลง 388.00 จุด หรือ -1.14%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,273.53 จุด ลดลง 63.91 จุด หรือ -1.47% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,063.61 จุด ลดลง 207.71 จุด หรือ -1.57%
ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีนี้ โดยทั้งดาวโจนส์, S&P500 และ Nasdaq ต่างก็ปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือน ขณะที่ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.ปีนี้
ตลาดถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี หลังจากเฟดส่งสัญญาณในการประชุมครั้งล่าสุดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายยังคงออกมาสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งรวมถึงนางมิเชล โบว์แมน หนึ่งในสมาชิกคณะผู้ว่าการเฟด, นางซูซาน คอลลินส์ ประธานเฟดสาขาบอสตัน และนายออสเตน กูลสบี ประธานเฟดสาขาชิคาโก ซึ่งต่างก็สนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง
นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐจะถูกชัตดาวน์ในวันที่ 1 ต.ค. หากสภาคองเกรสยังคงไม่มีความคืบหน้าในการผ่านร่างงบประมาณชั่วคราว และส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามเป็นกฎหมายภายในวันที่ 30 ก.ย.
มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เตือนว่าหากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐถูกชัตดาวน์ ก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ และจะสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของสถาบันและการแบ่งขั้วทางการเมืองที่รุนแรงในสหรัฐ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อการกำหนดนโยบายด้านการคลัง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานะการคลังของสหรัฐอ่อนแอลงอย่างมาก
นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอยังทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดขายบ้านใหม่ลดลง 8.7% สู่ระดับ 675,000 ยูนิตในเดือนส.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 695,000 ยูนิต จากระดับ 739,000 ยูนิตในเดือนก.ค. โดยยอดขายบ้านใหม่ถูกกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่ปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 103.0 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 105.5 จากระดับ 108.7 ในเดือนส.ค. โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และความเสี่ยงที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐจะถูกชัตดาวน์
หุ้นทั้ง 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคร่วงลง 3.05% ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ต่างก็ปรับตัวลง 1.8%
หุ้นอะเมซอน ดิ่งลง 4% หลังจากคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FTC) ยื่นฟ้องบริษัทอะเมซอน เนื่องจากบริษัทมีพฤติกรรมกีดกันคู่แข่งทางการค้า
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นอกจากนี้ นักลงทุนยังติดตามการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด โดยนายพาวเวลจะจัดการประชุมแบบทาวน์ฮอลล์ร่วมกับบรรดานักวิชาการในวันพฤหัสบดีที่ 28 ก.ย.นี้ และจะตอบคำถามจากผู้ที่เข้าร่วมการประชุม