ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (27 ก.ย.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยตลาดถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี รวมทั้งความกังวลว่าการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อและส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,550.27 จุด ลดลง 68.61 จุด หรือ -0.20%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,274.51 จุด เพิ่มขึ้น 0.98 จุด หรือ +0.02% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,092.85 จุด เพิ่มขึ้น 29.24 จุด หรือ +0.22%
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.622% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี หลังจากเฟดส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันอาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นด้วย
เกร็ก บาสซัค นักวิเคราะห์จากบริษัท AXS Investments กล่าวว่า บรรยากาศการซื้อขายในตลาดถูกกดดันจากความกังวลว่าปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐอาจจะผลักดันให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ บาสซัคคาดการณ์ว่า ตลาดจะยังคงเผชิญกับความผันผวนต่อไปในอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า แต่ก็คาดว่านักลงทุนจะเริ่มเข้ามาช้อนซื้อหุ้นในช่วงปลายเดือนต.ค.จนถึงปลายปีนี้
ปีเตอร์ ทุซ นักวิเคราะห์จากบริษัท Chase Investment Counsel แสดงความเห็นว่า ขณะนี้นักลงทุนกำลังประเมินสถานการณ์ว่าควรจะเริ่มเข้ามาช้อนซื้อหุ้นหรือไม่หลังจากตลาดถูกเทขายอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเขาคาดว่านักลงทุนจะเริ่มช้อนซื้อในช่วงไตรมาส 4 และคาดว่าการทุบขายหุ้นในช่วงไตรมาส 3 อาจใกล้ยุติลงแล้ว
ดัชนีหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ร่วงลง 1.9% ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้น 2.5% หลังจากราคาน้ำมัน WTI ทะยานขึ้นกว่า 3% ภายหลังจากสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบลดลงมากกว่าคาด
หุ้นทาร์เก็ต ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ ปรับตัวขึ้น 0.25% หลังจากบริษัทตัดสินใจปิดสาขาบางแห่งในสหรัฐ เนื่องจากประสบปัญหาการโจรกรรมสินค้าของกลุ่มคนร้ายที่ทำเป็นขบวนการ โดยการตัดสินใจดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะป้องกันความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงาน และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท
นักลงทุนจับตาความคืบหน้าของสภาคองเกรสในการผ่านร่างงบประมาณชั่วคราว ซึ่งหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงภายในวันที่ 30 ก.ย. ก็จะทำให้มีการปิดหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ หรือชัตดาวน์ในวันที่ 1 ต.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2566 ในวันนี้ และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนส.ค.ในวันศุกร์นี้ รวมทั้งการแสดงความเห็นของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ในการประชุมทาวน์ฮอลล์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค. หลังจากดิ่งลง 5.6% ในเดือนก.ค.