ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 100 จุด บ่งชี้การปรับฐานของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท หลังจากพุ่งแรงก่อนหน้านี้
ณ เวลา 20.48 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 123 จุด หรือ 0.34% สู่ระดับ 36,180 จุด
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในสัปดาห์ที่แล้ว โดยดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้น 9.4% และปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 5 สัปดาห์ ขณะที่ดัชนี S&P 500 ทำสถิติปิดตลาดสูงสุดในปี 2566 และปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 5 สัปดาห์เช่นกัน ส่วนดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 37% นับตั้งแต่ต้นปี 2566
การซื้อขายในตลาดได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%
เจ้าหน้าที่เฟดเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 12-13 ธ.ค.
ทั้งนี้ กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่าเป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง
นักลงทุนเทน้ำหนักเกือบ 100% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมเดือนมี.ค.2567
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.5% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค.2566 และให้น้ำหนัก 83.8% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนม.ค.2567
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 51.7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนมี.ค.2567
การคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้น แม้ว่านายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า ขณะนี้ยังคงเร็วเกินไปที่เฟดจะประกาศชัยชนะเหนือเงินเฟ้อ และเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
"เป็นเรื่องที่เร็วเกินไปที่เราจะสรุปด้วยความเชื่อมั่นว่าเราได้บรรลุจุดยืนในการใช้นโยบายที่มีความเข้มงวดเพียงพอ หรือจะทำการคาดเดาว่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเมื่อใด โดยเราเตรียมพร้อมที่จะใช้นโยบายที่เข้มงวดต่อไป หากเป็นสิ่งเหมาะสมที่จะทำ จนกว่าเราจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับ 2% อย่างแน่นอน" นายพาวเวลกล่าวในงานเสวนาที่แอตแลนตา
นายพาวเวลกล่าวว่า แม้ว่าเงินเฟ้อได้ปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
นอกจากนี้ นายพาวเวลระบุว่า เฟดจะไม่มีการกำหนดทิศทางนโยบายไว้ล่วงหน้า และการตัดสินใจในการประชุมแต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เฟดได้รับ และสิ่งบ่งชี้สำหรับแนวโน้มด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งการรักษาสมดุลของความเสี่ยง