ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลง หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่ง ซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 21.35 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 36,106.23 จุด ลบ 11.15 จุด หรือ 0.03%
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันนี้
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์จะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
นักลงทุนยังคงเทน้ำหนักเกือบ 100% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า แต่ลดน้ำหนักในการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมเดือนมี.ค.2567 หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงเกินคาด
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 98.2% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค.2566 และให้น้ำหนัก 92.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนม.ค.2567
อย่างไรก็ดี นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 47.4% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนมี.ค.2567 จากเดิมที่ให้น้ำหนัก 55.4% เมื่อวานนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 48.8% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนมี.ค.2567 จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 35.4% เมื่อวานนี้
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 199,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 180,000 ตำแหน่ง และเพิ่มขึ้นจากระดับ 150,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค.
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.7% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.9%
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.0% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.8%