ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 100 จุด แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขานรับผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วานนี้ ซึ่งเฟดส่งสัญญาณยุติวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
ณ เวลา 21.33 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 37,197.86 จุด บวก 107.62 จุด หรือ 0.29%
นอกจากนี้ ตลาดได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 4.0%
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์จะช่วยเพิ่มกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และช่วยลดต้นทุนการชำระหนี้ของบริษัทต่างๆ ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถเพิ่มการลงทุน และเพิ่มการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
นักลงทุนเทน้ำหนักในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมเดือนมี.ค.2567 หลังจากที่เฟดส่งสัญญาณยุติวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้งในปี 2567 ในการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) วานนี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 81.4% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 30-31 ม.ค.2567
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 72.6% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนมี.ค.2567 จากเดิมที่มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมเดือนพ.ค.2567
ขณะเดียวกัน การซื้อขายในตลาดได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่ง ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญภาวะถดถอย แต่จะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือซอฟท์แลนดิ้ง
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลง 0.2% ในเดือนต.ค.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดค้าปลีกลดลง 0.1% ในเดือนพ.ย.
เมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 4.1% ในเดือนพ.ย.
หากไม่รวมยอดขายรถยนต์และน้ำมัน ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนพ.ย.
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 19,000 ราย สู่ระดับ 202,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 220,000 ราย
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 20,000 ราย สู่ระดับ 1.88 ล้านราย