ดาวโจนส์ลบ บอนด์ยีลด์กดดันตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 2, 2024 22:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงในวันนี้ ซึ่งเป็นการซื้อขายวันแรกของปี 2567 โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ณ เวลา 22.17 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 37,667.36 จุด ลบ 22.18 จุด หรือ 0.06% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 0.6% และดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 1.5%

นอกจากนี้ การซื้อขายในตลาดถูกกระทบจากการดิ่งลงกว่า 3% ของราคาหุ้นบริษัทแอปเปิ้ล อิงค์ หลังบาร์เคลย์สประกาศปรับลดอันดับความน่าลงทุน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับยอดขาย iPhone 15 ที่ชะลอตัว

ขณะเดียวกัน ตลาดถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีใกล้แตะ 4% ในวันนี้

ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดีดตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2566 โดยดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 24% และสามารถปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 9 สัปดาห์ก่อนปิดฉากปี 2566 ซึ่งเป็นการทำสถิติช่วงบวกรายสัปดาห์ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547

ตลาดได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนแห่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง หลังเงินเฟ้อชะลอตัวลง ขณะที่มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญภาวะถดถอย แต่จะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือซอฟต์แลนดิ้ง หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจ Market Strategist Survey ของสำนักข่าว CNBC ระบุว่า นักวิเคราะห์คาดว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะให้ผลตอบแทนในปี 2567 ต่ำกว่าปี 2566 โดยนักวิเคราะห์ 14 รายจากบริษัทชั้นนำคาดว่าดัชนี S&P 500 จะปิดตลาด ณ สิ้นปี 2567 ที่ระดับ 4,881 จุด หรือเพิ่มขึ้นเพียง 2.3% จากระดับ 4,769.83 จุด ณ สิ้นปี 2566 โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้บริษัทจดทะเบียนมีผลประกอบการลดลง

"ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดที่ตลาดหุ้นจะเผชิญไม่ใช่การที่เฟดหรือธนาคารกลางยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด แต่เป็นเรื่องของกำไรต่อหุ้นที่ลดลงมากกว่าคาด ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง และภาคเอกชนขาดอำนาจในการกำหนดราคา" นายอดัม คริสซาฟูลลี ผู้ก่อตั้งบริษัท Vital Knowledge ระบุในรายงาน

นักลงทุนจับตารายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 12-13 ธ.ค.ที่จะมีการเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ รวมทั้งข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐในสัปดาห์นี้

สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ในวันพรุ่งนี้ ส่วนวันพฤหัสบดีจะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่วันศุกร์จะมีตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ