ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 300 จุดในวันพุธ (31 ม.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามคาด แต่เฟดส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค.
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,150.30 จุด ลดลง 317.01 จุด หรือ -0.82%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,845.65 จุด ลดลง 79.32 จุด หรือ -1.61% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,164.01 จุด ลดลง 345.89 จุด หรือ -2.23%
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันครั้งที่ 4 และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด
อย่างไรก็ดี เฟดส่งสัญญาณว่ายังไม่มีแผนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมาย โดยเฟดระบุในแถลงการณ์ว่า "คณะกรรมการ FOMC มองว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น จนกว่าจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน"
ทางด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการ FOMC เชื่อมั่นว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อมีข้อมูลยืนยันว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้แล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากการประชุมในครั้งนี้ ผมไม่คิดว่าคณะกรรมการ FOMC จะมีความเชื่อมั่นในเรื่องนี้ได้ภายในช่วงเวลาที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินเดือนมี.ค. ซึ่งหมายความว่าเราไม่อาจชี้ชัดได้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในเดือนมี.ค."
หุ้นทั้ง 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ โดยหุ้นกลุ่มบริการด้านการสื่อสารและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงอย่างหนัก
ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทอัลฟาเบทและไมโครซอฟท์ โดยหุ้นอัลฟาเบท ร่วงลง 7.5% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้ในไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 8.631 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 8.533 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่รายได้จากการโฆษณาบนยูทูบ (YouTube) อยู่ที่ 9.2 พันล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 9.21 พันล้านดอลลาร์
หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 2.7% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้อยู่ที่ 6.202 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 ของปีงบการเงิน 2567 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 6.112 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่บริษัทคาดการณ์ว่า รายได้เฉลี่ยในไตรมาส 3 จะอยู่ที่ 6.050 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 6.093 หมื่นล้านดอลลาร์
นักลงทุนเริ่มกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านการเงินของธนาคารระดับภูมิภาคในสหรัฐอีกครั้ง หลังจากธนาคารนิวยอร์ก คอมมูนิตี้ แบงคอร์ป (New York Community Bancorp) เปิดเผยตัวเลขขาดทุนในไตรมาส 4/2566 และประกาศลดการจ่ายเงินปันผล ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นของธนาคารร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี
หุ้นโบอิ้ง ดีดตัวขึ้น 5.3% หลังบริษัทเปิดเผยรายได้ในไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 2.202 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.110 หมื่นล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินในอนาคตของโบอิ้ง หลังจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) มีคำสั่งระงับการใช้งานเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 MAX 9 หลังจากเครื่องบินรุ่นดังกล่าวของสายการบินอลาสก้า แอร์ไลน์ ประสบเหตุแผงประตูหลุดออกในขณะบินอยู่กลางอากาศจนต้องลงจอดฉุกเฉินเมื่อวันที่ 5 ม.ค.
ทั้งนี้ แม้ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในการซื้อขายวันสุดท้ายของเดือนม.ค. แต่เมื่อพิจารณาตลอดทั้งเดือนม.ค.แล้ว ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 1.2%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.6% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 1%
นักลงทุนยังคงจับตาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยข้อมูลจากแอลเอสอีจี (LSEG) ระบุว่า ขณะนี้มีบริษัท 176 แห่งในดัชนี S&P500 ที่ได้รายงานผลประกอบการแล้ว โดยในจำนวนนี้มี 80% ที่รายงานผลประกอบการสูงกว่าคาด
สำหรับข้อมูลแรงงานที่มีการเปิดเผยล่าสุดนั้น ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) รายงานว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 107,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 158,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 173,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 216,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในเดือนม.ค. จากระดับ 3.7% ในเดือนธ.ค.