ดัชนีดาวโจนส์เปิดตลาดในแดนลบ โดยปรับตัวลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว
ณ เวลา 21.31 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 38,543.27 จุด ลบ 84.72 จุด หรือ 0.22%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทำการวานนี้ (19 ก.พ.) เนื่องในวันประธานาธิบดี
ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 0.4% ในวันศุกร์ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่สูงกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพลิกพุ่งขึ้นทะลุ 4.3% หลังการเปิดเผยดัชนี PPI ดังกล่าว
ดัชนี PPI ที่สูงเกินคาด รวมทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงกว่าคาดที่มีการเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เป็นการตอกย้ำว่าเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง และเฟดยังคงมีภารกิจในการควบคุมเงินเฟ้อดังกล่าว
นักลงทุนจับตารายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 30-31 ม.ค. ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพุธนี้
ทั้งนี้ FOMC มีมติเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมดังกล่าว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 22 ปี
การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25% อย่างไรก็ดี เฟดส่งสัญญาณว่ายังไม่มีแผนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟด
ขณะเดียวกัน ตลาดจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ นายพาวเวลมีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 6 มี.ค. ก่อนที่จะกล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันที่ 7 มี.ค.
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวล ซึ่งจะมีขึ้นก่อนการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 19-20 มี.ค. เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI และดัชนี PPI ที่สูงกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว
การเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาดได้ทำให้นักลงทุนเลื่อนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในปีนี้เป็นเดือนมิ.ย. จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในเดือนมี.ค. แต่ก็เลื่อนมาเป็นเดือนพ.ค. ก่อนที่ล่าสุดคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย.
นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดดังกล่าวทำให้นักลงทุนเริ่มลดน้ำหนักคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. และส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพียง 3 ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยจำนวนมากกว่า 4 ครั้ง