ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 100 จุด ขณะที่นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ
ณ เวลา 21.36 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 38,962.09 จุด ลบ 107.14 จุด หรือ 0.27%
นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันพฤหัสบดี
ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.6% ในเดือนธ.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนม.ค. จากระดับ 0.2% ในเดือนธ.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.9% ในเดือนธ.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนม.ค. จากระดับ 0.2% ในเดือนธ.ค.
นอกจากนี้ ตลาดจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งจะกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ นายพาวเวลมีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 6 มี.ค. ก่อนที่จะกล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันที่ 7 มี.ค.
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวล ซึ่งจะมีขึ้นก่อนการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 19-20 มี.ค. เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่สูงกว่าคาดก่อนหน้านี้
การเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาดได้ทำให้นักลงทุนเลื่อนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในปีนี้เป็นเดือนมิ.ย. จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในเดือนมี.ค. แต่ก็เลื่อนมาเป็นเดือนพ.ค. ก่อนที่ล่าสุดคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย.
นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดดังกล่าวทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพียง 3 ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยจำนวนมากกว่า 4 ครั้ง