ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดพุ่งขึ้นในวันนี้ (4 มี.ค.) ทะลุระดับ 40,000 จุดได้เป็นครั้งแรก โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่พุ่งขึ้นตามหุ้นกลุ่มเดียวกันที่ตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อวันศุกร์ (1 มี.ค.)
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 40,109.23 จุด เพิ่มขึ้น 198.41 จุด หรือ +0.50% โดยในช่วงระหว่างวัน นิกเกอิพุ่งไปถึง 40,314.64 จุด
หุ้นกลุ่มที่นำตลาดปรับตัวขึ้นได้แก่ กลุ่มเครื่องมือชั่งตวงวัด และกลุ่มเหมืองแร่ ตลอดจนกลุ่มเทคโนโลยี เช่นหุ้น Tokyo Electron และ Advantest ที่ปรับตัวขึ้นตามหุ้นกลุ่มเดียวกันในสหรัฐ ด้วยความคาดหวังว่าจะมีดีมานด์ที่แข็งแกร่งในด้านปัญญาประดิษฐ์ ขณะที่หุ้นลบนำตลาด ได้แก่ กลุ่มขนส่งทางทะเล และกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง
นับตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ดัชนีนิกเกอิไต่ระดับขึ้นมาแล้วมากกว่า 1,000 จุดเหนือระดับสูงสุดที่เคยทำไว้เมื่อปี 2532 โดยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทั้งในและต่างประเทศด้วยอานิสงส์ของผลประกอบการของบริษัทที่แข็งแกร่ง อัตราดอกเบี้ยต่ำ และความคาดหวังว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด
นักวิเคราะห์กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อหุ้นญี่ปุ่นเนื่องจากมองว่าถูกกว่าตลาดหุ้นในประเทศอื่น ๆ
เซอิจิ ซูซูกิ หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดหุ้นจากสถาบันวิจัยโตไก โตเกียว กล่าวว่า "ตลาดมีแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ราคาถูก ขณะที่หุ้นชิปปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกตามทิศทางความแข็งแกร่งของหุ้นกลุ่มเดียวกันในตลาดหุ้นสหรัฐ"
โบรกเกอร์หลายแห่งกล่าวว่า แม้ระดับ 40,000 จุดจะสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทญี่ปุ่น แต่เมื่อดูจากความเร็วในการปรับตัวขึ้นของนิกเกอิแล้ว ก็ไม่ชัดเจนว่าดัชนีจะสามารถรักษาโมเมนตัมขาขึ้นได้ในช่วงนี้หรือไม่
อนึ่ง ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วงซบเซาเป็นเวลานานหลังจากนิกเกอิปิดบวกที่ระดับออลไทม์ไฮเดิมที่ 38,915.87 จุดในช่วงสิ้นปี 2532 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเผชิญภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่
หลังฟองสบู่แตกในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 นิกเกอิก็ร่วงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7,054.98 จุดในเดือนมี.ค. 2552 หลังเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก อันมีชนวนเหตุมาจากการล้มละลายของบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส ของสหรัฐ
ต่อมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็เข้าสู่ช่วงขาขึ้นโดยได้แรงหนุนจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ "อาเบะโนมิกส์" ของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้ล่วงลับ