ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (22 มี.ค.) จากแรงขายทำกำไรหลังจากพุ่งขึ้นอย่างมากก่อนหน้านี้ ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดลบเล็กน้อย และดัชนี Nasdaq ปิดขยับขึ้น แต่ดัชนีทั้ง 3 ตัวปรับตัวขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดในรอบสัปดาห์ในปีนี้ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้งภายในปีนี้
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,475.90 จุด ลดลง 305.47 จุด หรือ -0.77%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,234.18 จุด ลดลง 7.35 จุด หรือ -0.14% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,428.82 จุด เพิ่มขึ้น 26.98 จุด หรือ +0.16%
แต่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์บวก 2% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนธ.ค., ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น 2.3% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์คิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนธ.ค. และดัชนี Nasdaq บวก 2.9% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์คิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนม.ค.
ดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลงจากแรงขายทำกำไรหลังจากพุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดขยับขึ้นตามหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งพุ่งขึ้นอย่างมากในรอบสัปดาห์นี้ ท่ามกลางความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ตลาดพุ่งขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากเฟดประกาศตรึงดอกเบี้ย แต่ส่งสัญญาณว่า จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปีนี้
เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME บ่งชี้ว่า บรรดาเทรดเดอร์คาดการณ์ในขณะนี้ว่า มีโอกาสราว 71% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบกับ 56% ในช่วงต้นสัปดาห์นี้
หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวลง โดยหุ้นไนกี้ร่วง 6.9% หลังเตือนว่า รายได้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบการเงิน 2568 จะหดตัวลง
หุ้นลูลูเลมอน แอธเลทิกา ร่วง 15.8% หลังคาดการณ์รายได้และผลกำไรทั้งปีต่ำกว่าคาดการณ์
สำหรับความเคลื่อนไหวของหุ้นรายตัวอื่น ๆ นั้น หุ้นดิจิทัล เวิลด์ แอกควิซิชัน ร่วง 13.7% หลังผู้ถือหุ้นลงมติอนุมัติการควบรวมกิจการกับบริษัทสื่อและเทคโนโลยีของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ส่วนหุ้นเฟดเอ็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทบริการด้านขนส่งสินค้า พุ่งขึ้น 7.4% หลังเปิดเผยผลกำไรรายไตรมาสสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
บรรดานักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ (29 มี.ค.) เนื่องจากดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)