ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (28 มี.ค.) โดยทั้งดัชนีดาวโจนส์ และ S&P500 ต่างก็ทำสถิติในไตรมาส 1 ที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 5 ปี ขณะที่นักลงทุนขานรับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) พร้อมกับจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,807.37 จุด เพิ่มขึ้น 47.29 จุด หรือ +0.12%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,254.35 จุด เพิ่มขึ้น 5.86 จุด หรือ +0.11% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,379.46 จุด ลดลง 20.06 จุด หรือ -0.12%
เมื่อพิจารณาตลอดเดือนมี.ค. ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น 2.08% ขณะที่ดัชนี S&P500 พุ่งขึ้น 3.1% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 1.79% โดยดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีปรับตัวขึ้นรายเดือนติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5
ตลอดไตรมาส 1/2567 ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 5.62% ขณะที่ดัชนี S&P500 พุ่งขึ้น 10.16% โดยทั้งดาวโจนส์ และ S&P500 ต่างก็ทำผลงานในไตรมาส 1 ที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 5 ปีหรือนับตั้งแต่ปี 2562 ส่วนดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 9.11%
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีทำสถิติที่แข็งแกร่งในไตรมาส 1 นั้น มาจากแรงซื้อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
สหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเมื่อคืนนี้ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 ของ GDP ประจำไตรมาส 4/2566 ซึ่งระบุว่า GDP ขยายตัว 3.4% สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ที่ระดับ 3.3% และ 3.2% ตามลำดับ และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.2% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและรัฐบาล รวมทั้งการลงทุนของภาคธุรกิจ
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 210,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 212,000 ราย
สำหรับการแสดงความเห็นล่าสุดของเจ้าหน้าที่เฟดนั้น นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในสมาชิกคณะผู้ว่าการเฟดกล่าวในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐนิวยอร์กว่า ข้อมูลเงินเฟ้อที่น่าผิดหวังของสหรัฐซึ่งมีการรายงานเมื่อไม่นานมานี้ ถือเป็นสิ่งยืนยันว่าเฟดยังไม่จำเป็นต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่นายวอลเลอร์ก็ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 64% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ในการประชุมเดือนมิ.ย.
หุ้น 10 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยหุ้นกลุ่มบริการด้านการสื่อสาร กลุ่มพลังงาน และกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนี PCE ประจำเดือนก.พ.ของสหรัฐในวันนี้อย่างใกล้ชิด โดยดัชนี PCE เป็นข้อมูลเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กจะปิดทำการในวันนี้ (29 มี.ค.) เนื่องในวัน Good Friday *