ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทรุดตัวลงกว่า 600 จุด หลังเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1/2567 ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูง
ณ เวลา 21.55 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 37,767.16 จุด ลบ 693.76 จุด หรือ 1.8%
หุ้นทุกกลุ่มในตลาดต่างปรับตัวลงในวันนี้ หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุ 4.7% ในวันนี้ แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 เดือน
นักลงทุนเริ่มให้น้ำหนักใกล้เคียงกันต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดหรือคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. หลังเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1/2567 ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูง
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 44.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 46.4% เมื่อวานนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 40.8% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 30.2% เมื่อวานนี้
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2567 ที่มีการเปิดเผยในวันนี้ ถือเป็นข่าวร้ายของนักลงทุน เนื่องจากสหรัฐมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่น่าผิดหวัง ขณะที่เงินเฟ้อยังคงพุ่งขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1/2567 ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูง
"รายงานฉบับนี้ถือเป็นเรื่องแย่ที่สุดของ 'ทั้งสองโลก' โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลง ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงปรากฎอยู่"
"เฟดต้องการเห็นเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่ตลาดต้องการเห็นเศรษฐกิจมีการขยายตัว และกำไรของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ก็จะถือเป็นข่าวร้ายสำหรับตลาด" นายคริส แซคคาเรลลี หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของ Independent Advisor Alliance ระบุในรายงาน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2567 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.6% ในไตรมาสดังกล่าว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.4%
การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 1/2567 ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค
สำหรับในปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.2%, 2.1%, 4.9% และ 3.4% ในไตรมาส 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในไตรมาส 1/2567 พุ่งขึ้น 3.4% ซึ่งสูงกว่าในไตรมาส 4/2566 ที่ปรับตัวขึ้น 1.8% ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 3.7% สูงกว่าในไตรมาส 4/2566 ที่เพิ่มขึ้น 2.0% ทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้
ขณะเดียวกัน การซื้อขายในตลาดได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของหุ้นบริษัท เมตา แพลตฟอร์มส์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม
ราคาหุ้นของเมตาดิ่งลงกว่า 15% หลังนักลงทุนผิดหวังต่อตัวเลขคาดการณ์ยอดขายในไตรมาส 2/2567
การเปิดเผยรายงานผลประกอบการของเมตาสร้างความวิตกต่อนักลงทุนก่อนการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มเทคโนโลยี โดยบริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ป และอัลฟาเบท อิงค์ มีกำหนดเปิดเผยผลประกอบการหลังจากปิดตลาดวันนี้
นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันพรุ่งนี้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.5% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. จากระดับ 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.8% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. จากระดับ 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ.