ดัชนีดาวโจนส์พลิกปรับตัวลงสู่แดนลบ หลังผู้บริโภคเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้
ณ เวลา 22.33 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 39,505.53 จุด ลบ 7.31 จุด หรือ 0.02%
ผลการสำรวจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก พบว่า คาดการณ์เงินเฟ้อในเดือนเม.ย.ของผู้บริโภคในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 3.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2566 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.0% ที่คาดการณ์ในเดือนมี.ค.
คาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจากราคาบ้านและค่าเช่าบ้าน รวมทั้งเงินเฟ้อจากพลังงาน
ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในระยะเวลา 5 ปี เพิ่มขึ้น 0.2% สู่ระดับ 2.8%
อย่างไรก็ดี คาดการณ์เงินเฟ้อในระยะเวลา 3 ปี ลดลง 0.1% สู่ระดับ 2.8%
ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 100 จุดในช่วงแรก โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ บริษัทจำนวน 92% ในดัชนี S&P 500 ได้เปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาส 1/2567 แล้ว โดยบริษัทเกือบ 80% จากจำนวนดังกล่าวมีกำไรสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
หากดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดในแดนบวกวันนี้ ก็จะทำสถิติปรับตัวขึ้น 9 วันติดต่อกัน
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้กำหนดเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ
ทั้งนี้ นายพาวเวลมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ค.) เวลา 21.00 น.ตามเวลาไทย ในการประชุมประจำปีของสมาคมธนาคารต่างชาติที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
ล่าสุด นายพาวเวลกล่าวหลังการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ว่า เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปซึ่งจะมีขึ้นในเดือนมิ.ย.
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย.และธ.ค.
มอร์แกน สแตนลีย์ออกรายงานระบุว่า เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนก.ค.
นอกจากนี้ มอร์แกน สแตนลีย์คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 3 ครั้งในปีนี้ โดยเกิดขึ้นในเดือนก.ย.,พ.ย.และธ.ค.
การกล่าวสุนทรพจน์ของนายพาวเวลจะมีขึ้น ก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนเม.ย.ในวันพุธนี้
ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.5% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย. จากระดับ 0.4% ในเดือนมี.ค.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 3.6% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.8% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย. จากระดับ 0.4% ในเดือนมี.ค.