ดัชนีดาวโจนส์พลิกปรับตัวสู่แดนบวก หลังร่วงลงในช่วงแรก ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ และการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้
ณ เวลา 20.54 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 38,814.78 จุด บวก 15.79 จุด หรือ 0.04%
นักลงทุนจับตาการประชุมเฟดในวันที่ 11-12 มิ.ย. รวมทั้งถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด หลังการประชุม เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมสัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนก.ย.2562
นอกจากนี้ ตลาดจับตาคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ของเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในปีนี้
ทั้งนี้ ในการเปิดเผย Dot Plot ในการประชุมเดือนมี.ค. เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567 โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือนธ.ค.2566
นักลงทุนเลื่อนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดจากเดือนก.ย.ออกไปเป็นเดือนพ.ย. ซึ่งจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกและครั้งเดียวของเฟดในปีนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 51.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 45.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25%
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 46.7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพ.ย. และให้น้ำหนักเพียง 36.7% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50%
ส่วนในเดือนธ.ค. นักลงทุนให้น้ำหนัก 40.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% และให้น้ำหนักเพียง 34.8% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00%
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 272,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 182,000 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ หลังตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.1% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.9%
เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.4% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3%
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนพ.ค.ในวันพุธนี้
ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.4% ในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 0.3% ในเดือนเม.ย.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.6% ในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 0.3% ในเดือนเม.ย.