ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ กังวลการเมืองฝรั่งเศสกระทบหุ้นแบงก์

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 12, 2024 06:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันอังคาร (11 มิ.ย.) นำโดยตลาดหุ้นกลุ่มธนาคารในยุโรปที่ร่วงลง เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในฝรั่งเศส ขณะที่ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 517.29 จุด ลดลง 4.87 จุด หรือ -0.93% ซึ่งเป็นการลดลงวันเดียวมากที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,789.21 จุด ลดลง 104.77 จุด หรือ -1.33%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 18,369.94 จุด ลดลง 124.95 จุด หรือ -0.68% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,147.81 จุด ลดลง 80.67 จุด หรือ -0.98%

หุ้นกลุ่มธนาคารนำตลาดร่วงลง 2.2% ต่อจากเมื่อวันจันทร์

ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปรับตัวลงต่อเนื่องจากวันจันทร์ หลังประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ หลังจากพรรคเนชันแนล แรลลี (National Rally - RN) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดชนะการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป

โทมัส เกห์เลน นักยุทธศาสตร์ตลาดอาวุโสของเอสจี ไคลน์เวิร์ท ฮัมโบรสกล่าวว่า "หากพรรค RN เข้ามามีอำนาจ นั่นจะหมายถึงข่าวร้ายสำหรับโครงการต่าง ๆ ของยุโรปจำนวนมาก และสำหรับความเป็นบูรณภาพของสหภาพยุโรปด้วย"

นายมาครงตัดสินใจเสี่ยงโดยทำให้กลุ่มขวาจัดมีโอกาสจะได้ครองอำนาจทางการเมือง และการตัดสินใจครั้งนี้อาจทำให้ตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาอ่อนแอลง แม้ว่าเขาจะยังคงเหลือวาระการดำรงตำแหน่งอีก 3 ปีก็ตาม

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรฝรั่งเศสอายุ 10 ปีอยู่ที่ระดับ 3.2437% แตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน

หุ้นกลุ่มทรัพยากรพื้นฐานซึ่งรวมถึงหุ้นบริษัทเหมืองแร่รายใหญ่ที่สุดของยุโรป ร่วงลงเกือบ 2% เนื่องจากราคาโลหะส่วนใหญ่เผชิญแรงกดดันจากดอลลาร์ที่แข็งค่า และความวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์ในจีน

ด้านข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ตลาดแรงงานของอังกฤษแสดงสัญญาณการชะลอตัวในเดือนเม.ย. เนื่องจากอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น

จุดสนใจของตลาดในขณะนี้จะอยู่ที่การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธนี้ ซึ่งจะช่วยให้ตลาดประเมินกำหนดเวลาและขนาดของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ

ส่วนในยุโรปนั้น นายฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ECB ควรดำเนินการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงมีอยู่ และรอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปจนกว่าความไม่แน่นอนจะลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ