ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 300 จุด โดยถูกกดดันจากสถานการณ์ทางการเมืองในฝรั่งเศส และการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายได้รับผลกระทบจากการที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวต่ำกว่าคาดในเดือนมิ.ย.
ณ เวลา 21.12 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 38,340.00 จุด ลบ 307.10 จุด หรือ 0.79% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 0.4% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวลง 0.1%
อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 3.1% นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ขณะที่ดัชนี S&P 500 ดีดตัวขึ้น 1.6% ส่วนดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลง 0.4%
นักวิเคราะห์ระบุว่าตลาดถูกกดดันจากปัจจัยในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยการเมืองในฝรั่งเศส และการที่ BOJ ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น
นอกจากนี้ นักลงทุนผิดหวังต่อรายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพียง 1 ครั้งในปี 2567 จากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือนมี.ค.
ตลาดหุ้นฝรั่งเศสดิ่งลงกว่า 2% ในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. พร้อมกับจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะมีขึ้น 2 รอบในวันที่ 30 มิ.ย. และ 7 ก.ค.
นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคเนชันแนล แรลลี (National Rally) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด หลังจากทางพรรคเพิ่งคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป
นายบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส กล่าวเตือนว่าฝรั่งเศสอาจเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงิน หากพรรคขวาจัดหรือซ้ายจัดชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 65.6 ในเดือนมิ.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 71.5 จากระดับ 69.1 ในเดือนพ.ค.
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2566
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.1% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2566