ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (1 ก.ค.) ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดพุ่งขึ้นกว่า 100 จุด โดยได้แรงหนุนจากหุ้นบริษัทเทคโนโลยีที่มีทุนจดทะเบียนสูง ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,169.52 จุด เพิ่มขึ้น 50.66 จุด หรือ +0.13%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,475.09 จุด เพิ่มขึ้น 14.61 จุด หรือ +0.27% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,879.30 จุด เพิ่มขึ้น 146.70 จุด หรือ +0.83%
หุ้น 5 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้น 1.30% ตามด้วยดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวขึ้น 0.73% ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มวัสดุและกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวลงมากที่สุด โดยร่วงลง 1.55% และ 1.1% ตามลำดับ
หุ้นแอปเปิ้ล พุ่งขึ้น 2.9% หุ้นไมโครซอฟท์ ดีดขึ้น 2% และหุ้นอะเมซอน พุ่งขึ้น 2.2% ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนดัชนี Nasdaq
หุ้นเทสลา ทะยานขึ้น 6.1% ก่อนที่บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลการส่งมอบรถยนต์ในไตรมาส 2/2567
ส่วนหุ้นบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ปรับตัวลง โดยหุ้นแอดวานซ์ ไมโคร ดิไวซ์ (AMD) ร่วงลง 2.8% หุ้นอาร์ม โฮลดิงส์ ร่วงลง 2.9% และเป็นปัจจัยฉุดดัชนีหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ที่ตลาดหุ้นฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia SE Semiconductor Index) ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบหลายสัปดาห์เมื่อคืนนี้ และได้ฉุดหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ร่วงลง แต่การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นปัจจัยหนุนดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคาร (S&P 500 Banks Index) พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน
หุ้นเจพีมอร์แกน พุ่งขึ้น 1.6% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากธนาคารประกาศเพิ่มการจ่ายเงินปันผลเป็น 1.25 ดอลลาร์ต่อหุ้น จากเดิม 1.15 ดอลลาร์ต่อหุ้น นอกจากนี้ บอร์ดบริหารของเจพีมอร์แกนยังได้อนุมัติการซื้อหุ้นคืนมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.
เจพีมอร์แกนเป็น 1 ใน 31 ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐที่ผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฟดระบุว่าธนาคารเหล่านี้เงินทุนเพียงพอในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงทั่วโลกได้ และยังคงสามารถปล่อยเงินกู้ได้ในช่วงเวลา 2 ปี ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราว่างงานในสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 10%, ราคาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ทรุดตัวลง 40% และตลาดหุ้นร่วงลง 55%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมิ.ย.ของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 51.3 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนีปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตสหรัฐ
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลง 0.1% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย. และเมื่อเทียบเป็นรายปี การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างพุ่งขึ้น 6.4% ในเดือนพ.ค.
ข้อมูลจาก LSEG FedWatch บ่งชี้ว่า นักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยการปรับลดครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย.
ทั้งนี้ วอลุ่มการซื้อขายในตลาดเบาบาง เนื่องจากตลาดหุ้นนิวยอร์กจะปิดทำการในวันพฤหัสบดีนี้ (4 ก.ค.) เนื่องในวันชาติสหรัฐ
นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดซึ่งมีกำหนดแถลงนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐในวันที่ 9 ก.ค. และจะแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 ก.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจและแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลการค้าเดือนพ.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนมิ.ย.จากเอสแอนด์พี โกลบอล, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.