ดัชนีดาวโจนส์พลิกพุ่งกว่า 200 จุด ขานรับนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการแถลงต่อสภาคองเกรสเป็นวันที่ 2
ณ เวลา 00.11 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 39,510.85 จุด บวก 218.88 จุด หรือ 0.56%
นายพาวเวลส่งสัญญาณว่าเฟดมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้า โดยระบุว่า เฟดกำลังให้ความสนใจต่อตลาดแรงงานที่กำลังชะลอตัวลง และเฟดจะไม่รอจนกว่าเงินเฟ้อปรับตัวสู่เป้าหมาย 2% ถึงจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ในการกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดมีภารกิจในการควบคุมเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพในการจ้างงาน
"เราไม่ใช่ธนาคารกลางที่มีเป้าหมายอยู่ที่เงินเฟ้อเท่านั้น แต่เรามีภารกิจในการรักษาการจ้างงานเช่นกัน และเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เฟดจะไม่รอจนกว่าเงินเฟ้อปรับตัวสู่เป้าหมาย 2% ถึงจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย" นายพาวเวลกล่าว
นอกจากนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) แต่การดำเนินการดังกล่าวยังคงต้องใช้เวลา ซึ่งยังไม่มีความแน่นอน
นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดได้ปรับลดขนาดงบดุลลงแล้วประมาณ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ แต่จะดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อสร้างความมั่นใจว่าสถาบันการเงินจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำรองอย่างเพียงพอ หากมีความต้องการ
ทั้งนี้ เฟดได้เพิ่มขนาดงบดุลอย่างมากในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวและเพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐ
ปัจจุบัน เฟดได้ลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในวงเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยปล่อยให้ครบอายุโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม และลดการถือครองตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยปล่อยให้ครบอายุโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม
ส่วนในการแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐเมื่อวานนี้ นายพาวเวลส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แม้ว่าไม่มีการระบุกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยเขากล่าวว่า การที่เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเกินไปและนานเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ "แม้มีความคืบหน้าในการปรับลดเงินเฟ้อและลดความร้อนแรงในตลาดแรงงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อไม่ใช่ความเสี่ยงประการเดียวที่เราเผชิญ แต่การผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ช้าเกินไปหรือน้อยเกินไปอาจสร้างความอ่อนแอต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน"
นายพาวเวลกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับตลาดแรงงาน แม้มีการชะลอตัวลงบ้างในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า เงินเฟ้อได้ชะลอตัวลง ขณะที่เฟดยังคงมีความมุ่งมั่นในการทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมาย 2%
"หลังจากที่ขาดความคืบหน้าในการทำให้เงินเฟ้อไปสู่เป้าหมาย 2% ในช่วงแรกของปีนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อรายเดือนครั้งล่าสุดก็ได้แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้า และถ้าหากยังคงมีข้อมูลที่ดีปรากฎออกมาอีก ก็จะช่วยให้เรามีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวไปสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน" นายพาวเวลกล่าว
ขณะเดียวกัน นายพาวเวลกล่าวว่า ข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ชะลอตัวก็ตาม
"อุปสงค์ภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่ผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่าย แม้มีการชะลอตัวลง" นายพาวเวลกล่าว