ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะยานกว่า 800 จุด ขณะที่นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. หลังการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่สอดคล้องคาดการณ์
ณ เวลา 23.59 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 40,747.32 จุด บวก 812.25 จุด หรือ 2.03%
ตลาดยังได้ปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่บ่งชี้ว่า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในช่วง 1 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ตลาดได้รับปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยดัชนี PCE ดังกล่าว
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์จะช่วยเพิ่มกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และช่วยลดต้นทุนการชำระหนี้ของบริษัทต่างๆ ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถเพิ่มการลงทุน และเพิ่มการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
บริษัทจำนวนมากกว่า 40% ในดัชนี S&P 500 ได้เปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2567 แล้ว โดยบริษัทราว 80% จากจำนวนดังกล่าวมีกำไรสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
นักลงทุนเทน้ำหนัก 100% ต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ในเดือนก.ย. หลังการเปิดเผยดัชนี PCE ในวันนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย., พ.ย. และธ.ค.
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 89.6% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนก.ย. ขณะที่ให้น้ำหนัก 10.2% และ 0.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% และ 0.75% ในเดือนดังกล่าวตามลำดับ
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 60.4% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 57.5% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ขณะเดียวกัน นักลงทุนให้น้ำหนัก 56.4% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเดือนธ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 49.5% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.6% ในเดือนพ.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนมิ.ย. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนพ.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.6% ในเดือนพ.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.1% ในเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 66.4 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 66.0 จากระดับ 68.2 ในเดือนมิ.ย.
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 2.9% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และลดลงจากตัวเลขคาดการณที่ระดับ 3.0% ในเดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.0% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนที่แล้ว