ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะยานกว่า 200 จุด ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 21.01 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 40,759.06 จุด บวก 219.13 จุด หรือ 0.54%
นอกจากนี้ ตลาดได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในวันนี้
บริษัทจำนวนมากกว่า 230 แห่งในดัชนี S&P 500 ได้เปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2567 แล้ว โดยบริษัทราว 80% จากจำนวนดังกล่าวมีกำไรสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ และจะสิ้นสุดในวันพรุ่งนี้
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด หลังการประชุม เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในปีนี้
ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 3 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย., พ.ย. และธ.ค.
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. โดยให้น้ำหนัก 89.6% ต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% และให้น้ำหนัก 10.1% และ 0.3% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% และ 0.75% ในเดือนดังกล่าวตามลำดับ
ขณะเดียวกัน นักลงทุนให้น้ำหนัก 57.7% และ 54.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนพ.ย.และธ.ค.
ในการประชุม FOMC ครั้งล่าสุดในเดือนมิ.ย. เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี และเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 7 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%
ขณะเดียวกัน ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพียง 1 ครั้งในปี 2567 จากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปี 2568 ครั้งละ 0.25% รวม 1.00% จากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือนมี.ค.
ส่วนในปี 2569 เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 1.00% จากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้น 177,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. จากระดับ 206,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. และคาดว่าอัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1%