ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดร่วงลงมากกว่า 2,000 จุดในวันนี้ (2 ส.ค.) ทำสถิติร่วงหนักสุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของดัชนี เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญภาวะถดถอย หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่อ่อนแอ และตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่สูงเกินคาด
บรรยากาศการซื้อขายเป็นไปอย่างซบเซาต่อเนื่องจากวันก่อนหน้า โดยนักลงทุนเทขายหุ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐยิ่งกระตุ้นแรงเทขายหุ้นกลุ่มส่งออก อาทิ รถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 35,909.70 จุด ร่วงลง 2,216.63 จุด หรือ -5.81% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.
หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวลง นำโดยกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มประกัน และกลุ่มธนาคาร
การดิ่งลงของดัชนีนิกเกอิในวันนี้ถือเป็นการร่วงในวันเดียวที่หนักที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของดัชนี รองจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2530 ซึ่งเป็นวันถัดจาก "วันจันทร์ทมิฬ" (Black Monday) ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกถล่มครั้งใหญ่ โดยในวันนั้นดัชนีนิกเกอิได้ร่วงลงถึง 3,836 จุด
นายเซอิจิ ซูซูกิ หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดหุ้นจากสถาบันวิจัยโตไก โตเกียว ให้ความเห็นว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงเพราะวิตกกังวลในสองประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือกังวลว่าตัวเลขการจ้างงานสหรัฐที่จะประกาศในคืนนี้อาจออกมาไม่สดใส ส่วนประเด็นที่สองคือความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเข้ามาพยุงเศรษฐกิจช้าเกินไป แม้ว่าหลายฝ่ายเชื่อว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย.นี้ก็ตาม
นายซูซูกิกล่าวว่า ในขณะที่ตลาดกำลังวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ญี่ปุ่นกลับมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยเพิ่ม ส่งผลให้ตลาดหุ้นโตเกียวร่วงแรงกว่าที่อื่น
ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโตเกียวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีนิกเกอิทำสถิติปิดเหนือ 42,000 จุดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ท่ามกลางความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อผลประกอบการของบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งได้อานิสงส์จากค่าเงินเยนที่อ่อนตัว ประกอบกับความคาดหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะทำซอฟต์แลนดิ้งได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม หลังจากการเทขายอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา โบรกเกอร์หลายแห่งมองว่าดัชนีนิกเกอิเริ่มส่งสัญญาณขายมากเกินไปในระยะสั้น แต่คาดการณ์ว่าจะมีแรงช้อนซื้อกลับเข้ามาในสัปดาห์หน้า
"ต่อให้ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐออกมาแย่กว่าคาด นักลงทุนก็อาจรับรู้ปัจจัยลบดังกล่าวไปแล้ว หากเป็นเช่นนั้นจริง อาจกลับเป็นผลดี เพราะจะเพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ย (มากขึ้น) ในปีนี้ ซึ่งจะช่วยหนุนตลาดในที่สุด" นายซูซูกิวิเคราะห์