ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดร่วงกว่า 4,400 จุดในวันนี้ (5 ส.ค.) ซึ่งเป็นการดิ่งลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นโตเกียวเมื่อนับเป็นจุด โดยดัชนีร่วงลงกว่า 12% เนื่องจากข้อมูลแรงงานที่อ่อนแอของสหรัฐส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากการแข็งค่าของเงินเยน หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเกือบ 5 เยน แตะกรอบบนของระดับ 141 เยนซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างมากในเดือนก.ย.
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 31,458.42 จุด ร่วงลง 4,451.28 จุด หรือ -12.40%
หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวลง นำโดยหุ้นกลุ่มประกันภัย กลุ่มธนาคาร และกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์
ตลาดหุ้นร่วงลงตั้งแต่เริ่มเปิดตลาด และดิ่งลงอย่างต่อเนื่องในช่วงบ่าย โดยการร่วงลงของดัชนีนิกเกอิครั้งนี้ทำลายสถิติการลดลง 3,836 จุด ในวันที่ 20 ต.ค. 2530 หรือหนึ่งวันหลังจากเหตุการณ์ "วันจันทร์ทมิฬ" (Black Monday)
หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ การลดลงครั้งนี้ถือเป็นการลดลงเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ รองจากการร่วงลง 14.9% ในวันหลังจากเหตุการณ์ Black Monday
การร่วงลงอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นทำให้ต้องมีการหยุดการซื้อขายชั่วคราว (Circuit breaker) ทั้งในตลาดนิกเกอิฟิวเจอร์และโทปิกซ์ (Topix) ฟิวเจอร์
เมื่อวันศุกร์ (2 ส.ค.) สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 114,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 177,000 ตำแหน่ง และชะลอตัวจากระดับ 179,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย.
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.1%
ข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญภาวะถดถอย หลังจากเฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตลาดโดน "สามหมัด" ได้แก่ หมัดแรก คือข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่น่าผิดหวัง ซึ่งกระตุ้นความกังวลว่าสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หมัดสอง คือการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างกะทันหันของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และหมัดสาม คือมุมมองที่ว่าฟองสบู่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจแตกแล้ว
"นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาในญี่ปุ่น แต่เป็นการถล่มลงทั่วโลก ซึ่งสะท้อนถึงการแตกของฟองสบู่สินทรัพย์ที่เกิดจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากเกินไปหลังยุคโควิด" โทโมอิจิโระ คูโบตะ นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของบริษัทหลักทรัพย์มัตสึอิ กล่าว
ความวิตกกังวลได้แพร่กระจายไปตลาดหุ้นทั่วโลก โดยตลาดหุ้นในไต้หวันและเกาหลีใต้ก็ปรับตัวร่วงลงมากกว่า 8% ในวันนี้
นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจาก "ความคาดหวังสูงต่อ AI ได้ลดลงหลังจากรายงานผลประกอบการรายไตรมาส (ที่น่าผิดหวัง) ของบริษัทสหรัฐ" คูโบตะกล่าว
ขณะเดียวกัน บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายของ BOJ จากการผ่อนคลายทางการเงินนั้น ได้ยุติ "ยุคอัตราดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์" และทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มผู้ส่งออก เนื่องจากลดผลกำไรในต่างประเทศเมื่อแปลงกลับเป็นเงินเยน