ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้นเกือบ 200 จุด ส่งสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในคืนนี้ หลังจากดิ่งลงอย่างหนักวานนี้
ณ เวลา 19.22 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 196 จุด หรือ 0.5% สู่ระดับ 39,044 จุด
ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดวานนี้ทรุดตัวลงกว่า 1,000 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ
อย่างไรก็ดี ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ดิ่งลงเกือบ 20% ในวันนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่านักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย
ดัชนี VIX พุ่งแตะระดับ 65 จุดเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาด ขณะที่อัตราว่างงานพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี
นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.4 ในเดือนก.ค. โดยฟื้นตัวขึ้นจากระดับ 48.8 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 51.0
ดัชนีได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน
ดัชนีปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคบริการ หลังจากอยู่ในภาวะหดตัวในเดือนมิ.ย.
นอกจากนี้ เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ มีการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18
แบล็คร็อค ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในโลก ออกรายงานระบุว่า ตลาดหุ้นจะดีดตัวขึ้นต่อไป โดยฟื้นตัวขึ้นจากแรงเทขายทั่วโลก ขณะที่นักลงทุนเริ่มคลายความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการระบายสถานะ yen carry trade เริ่มผ่อนคลายลง
"เราคิดว่าสินทรัพย์เสี่ยงสามารถฟื้นตัวขึ้นจากการที่นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่การระบายสถานะ yen carry trade ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเริ่มมีเสถียรภาพ"
"เรายังคงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นสหรัฐ ซึ่งได้แรงผลักดันจากกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเรามองว่าแรงเทขายที่เกิดขึ้นถือเป็นโอกาสที่จะเข้าช้อนซื้อหุ้นในตลาด"
"นอกจากนี้ เราคิดว่าการขยายตัวจะเป็นปัจจัยหนุนสำหรับสินทรัพย์เสี่ยง และเราเชื่อว่าตลาดปรับตัวรับคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดมากเกินไป" รายงานระบุ
ขณะเดียวกัน แบล็คร็อคระบุว่า รายงานการจ้างงานที่อ่อนแอเกินคาดเกิดจากการชะลอตัวของการจ้างงาน ไม่ใช่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการที่อัตราว่างงานพุ่งขึ้นเกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณแรงงานอันเนื่องจากแรงงานต่างชาติที่อพยพเข้าสู่สหรัฐ ไม่ใช่เกิดจากการเลิกจ้างของบริษัท ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่แตกต่างจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก่อนหน้านี้