ดาวโจนส์พลิกร่วงกว่า 100 จุด ซื้อขายผันผวน ก่อนหยุดยาวช่วงสุดสัปดาห์

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 30, 2024 22:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พลิกร่วงลงกว่า 100 จุด ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน ขณะที่การซื้อขายเป็นไปอย่างเบาบาง ก่อนวันหยุดยาวช่วงสุดสัปดาห์ เนื่องจากตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะปิดทำการในวันจันทร์ที่ 2 ก.ย. เนื่องในวันแรงงานสหรัฐ

ณ เวลา 22.40 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 41,227.96 จุด ลบ 107.09 จุด หรือ 0.26%

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 100 จุดในช่วงแรก ขานรับดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมเดือนก.ย.

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. โดยแบ่งเป็นให้น้ำหนัก 69.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% และให้น้ำหนัก 30.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.6% จากระดับ 2.5% ในเดือนมิ.ย.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.1% ในเดือนมิ.ย.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.7% จากระดับ 2.6% ในเดือนมิ.ย.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.2% ในเดือนมิ.ย.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

ราคาหุ้นของบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีน พุ่งขึ้นกว่า 4% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท หลังเสร็จสิ้นกระบวนการปรับปรุงการดำเนินงานของบริษัทเป็นเวลา 3 ปีตามคำสั่งของทางการจีน

ทั้งนี้ สำนักงานควบคุมกฎระเบียบตลาดของจีน (SAMR) สั่งปรับอาลีบาบาเป็นจำนวนเงิน 1.823 หมื่นล้านหยวน (2.6 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2564 หลังการสอบสวนบริษัทเกี่ยวกับข้อหาผูกขาดตลาด จากการที่อาลีบาบาบังคับให้บริษัทที่ต้องการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอาลีบาบาจะต้องเลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพียง 1 ใน 2 แพลตฟอร์ม แทนที่จะอนุญาตให้มีการขายบนทั้ง 2 แพลตฟอร์ม

SAMR ระบุว่า มาตรการดังกล่าวของอาลีบาบาทำให้บริษัทมีความได้เปรียบเหนือบริษัทอื่น และเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ล่าสุด SAMR ประกาศในวันนี้ว่า นับตั้งแต่มีการสั่งปรับดังกล่าว SAMR ได้ทำการตรวจสอบอาลีบาบาเพื่อให้มีการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับกฎระเบียบ ซึ่งการดำเนินการของอาลีบาบาให้ผลลัพธ์ที่ดี

SAMR ระบุว่า อาลีบาบาได้เสร็จสิ้นกระบวนการดังกล่าวแล้ว และได้ยุติมาตรการที่ใช้บังคับต่อบริษัทที่ต้องการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอาลีบาบา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ