ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 100 จุด หลังจากที่นายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ระบุว่า เขาพร้อมที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
ณ เวลา 21.38 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 41,058.78 จุด บวก 121.85 จุด หรือ 0.3%
ท่าทีของนายบอสติกสอดคล้องกับนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งกล่าวในเดือนก.ค.ว่า เฟดจะไม่รอจนกว่าเงินเฟ้อปรับตัวสู่เป้าหมาย 2% ก่อนที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ นายบอสติกถือเป็นเจ้าหน้าที่เฟดสายเหยี่ยว ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี นายบอสติกระบุในวันนี้ว่า เขาได้ปรับจุดสนใจของเขาไปสู่ภารกิจอีกด้านหนึ่งของเฟดในการรักษาการจ้างงาน เนื่องจากมีสัญญาณบ่งชี้มากขึ้นถึงความอ่อนแอในตลาดแรงงาน
"ผมเชื่อว่าเราไม่สามารถรอจนกระทั่งเงินเฟ้อปรับตัวลงสู่ระดับ 2% ก่อนที่เราจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะชะงักงันในตลาดแรงงาน ซึ่งจะสร้างปัญหาและความยากลำบากโดยไม่จำเป็น" นายบอสติกระบุในข้อความที่มีการโพสต์บนเว็บไซต์ของเฟดสาขาแอตแลนตา
อย่างไรก็ดี นายบอสติกไม่ได้เปิดเผยว่าเขาคิดว่าเฟดควรจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อใดและเท่าใด
ขณะเดียวกัน นักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรหุ้นราคาถูก หลังดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงกว่า 600 จุดวานนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตสหรัฐหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5
นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตที่อ่อนแอของสหรัฐ
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 47.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 18 ก.ย. หลังจากให้น้ำหนักเพียง 38.0% เมื่อวานนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 53.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 18 ก.ย. หลังจากให้น้ำหนัก 62.0% เมื่อวานนี้
ทั้งนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.2 ในเดือนส.ค. จากระดับ 46.8 ในเดือนก.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 47.5
ดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ขณะที่ได้รับผลกระทบจากภาวะหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน
นักลงทุนจับตาตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ในวันนี้ รวมทั้งรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ Beige Book เป็นรายงานซึ่งจะมีการเปิดเผยก่อนการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยเป็นการประเมินภาวะเศรษฐกิจจากเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งประจำอยู่ใน 12 เขตของสหรัฐ
นอกจากนี้ Beige Book เป็นรายงานที่มีการรวบรวมข้อมูลจากมุมมองของผู้นำธุรกิจ รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนายธนาคารในภูมิภาค ทำให้ Beige Book สามารถสะท้อนภาวะเศรษฐกิจสหรัฐในวงกว้าง