ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 200 จุด หลุดแนว 42,000 จุด ขณะที่นักลงทุนพากันขายทำกำไร หลังจากดีดตัวแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์วานนี้
ณ เวลา 23.04 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 41,980.02 จุด ลบ 228.20 จุด หรือ 0.54%
นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักเกือบ 60% ต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ย. หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทรุดหนักสุดในรอบกว่า 3 ปี
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 58.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากให้น้ำหนักเพียง 37.0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 41.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากให้น้ำหนักมากถึง 62.2% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 98.7 ในเดือนก.ย. จากระดับ 105.6 ในเดือนส.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 104.0
ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลง 6.9 จุดในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นการร่วงลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2564 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน รวมทั้งแนวโน้มธุรกิจและรายได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ต่างปรับตัวลงในเดือนก.ย.
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนข้างหน้าสู่ระดับ 5.2%
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดหลายราย ซึ่งรวมถึงนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดก่อนสิ้นปีนี้
นายพาวเวลมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมว่าด้วยตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยธนาคารกลางสหรัฐ สาขานิวยอร์ก เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 26 ก.ย.เวลา 09.20 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 20.20 น.ตามเวลาไทย
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)