ดัชนีดาวโจนส์เปิดตลาดพุ่งขึ้นกว่า 100 จุด ขณะที่นักลงทุนส่งแรงซื้อเก็งกำไร หลังดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 4 วันติดต่อกัน
ณ เวลา 20.31 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 42,530.14 จุด บวก 155.78 จุด หรือ 0.37%
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงหลุดระดับ 4.2% ในวันนี้ หลังพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนก่อนหน้านี้
ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดวานนี้ร่วงลง 0.3% โดยถูกกดดันจากการดิ่งลงของหุ้นโบอิ้ง และหุ้นอินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส แมชชีน (IBM)
แม้ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นในวันนี้ แต่มีแนวโน้มร่วงลงราว 2% ในสัปดาห์นี้ หลังจากทำสถิติดีดตัวขึ้น 6 สัปดาห์ติดต่อกัน
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ในวันพรุ่งนี้ (26 ต.ค.) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 6-7 พ.ย. เพียง 1 วันหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พ.ย.
กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่าเป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 95.6% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเดือนพ.ย. รวมทั้งให้น้ำหนัก 75.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนธ.ค.
หากเฟดลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนพ.ย.และเดือนธ.ค.ตามคาด ก็จะสอดคล้องกับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในปี 2568 และลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในปี 2569
โดยรวมแล้ว Dot Plot บ่งชี้ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2.00% หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 18 ก.ย.