ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 300 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และการเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ป และเมตา แพลตฟอร์มส์
ณ เวลา 22.55 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 41,787.16 จุด ลบ 354.38 จุด หรือ 0.84%
ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นทะลุระดับ 20 จุดในวันนี้ ซึ่งบ่งชี้ถึงความวิตกของนักลงทุน และความผันผวนในตลาด
ผลการสำรวจจากหลายสำนักต่างบ่งชี้คะแนนนิยมที่สูสึกันอย่างมากระหว่างนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พ.ย.
นักลงทุนกังวลว่า มาตรการต่างๆของนายทรัมป์ อาทิ แผนการปรับลดอัตราภาษี และการผ่อนคลายกฎระเบียบในภาคการเงิน จะทำให้สหรัฐเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณมากขึ้น และจะเป็นปัจจัยกระตุ้นเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ มาตรการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน จะส่งผลกระทบต่อสกุลเงินเอเชีย และเพิ่มความผันผวนในตลาดการเงิน จะทำให้ดอลลาร์แข็งค่า และกระทบต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาด
ตลาดจับตาผลประกอบการของบริษัทแอปเปิ้ลและแอมะซอนในวันนี้
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.1% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.3% ในเดือนส.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.1% ในเดือนส.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.6% จากระดับ 2.7% ในเดือนส.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.2% ในเดือนส.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 12,000 ราย สู่ระดับ 216,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 227,000 ราย
ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลง 2,250 ราย สู่ระดับ 236,500 ราย
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 26,000 ราย สู่ระดับ 1.86 ล้านราย
กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนต.ค.ในวันพรุ่งนี้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 111,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 254,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. โดยคาดว่าการจ้างงานในเดือนต.ค.ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนเฮลีนและมิลตันที่พัดถล่มสหรัฐ รวมทั้งการผละงานประท้วงของพนักงานบริษัทโบอิ้ง, เท็กซ์ตรอน และโรงแรมฮิลตัน
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าอัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% ในเดือนต.ค.