ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้นกว่า 200 จุด หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 20.06 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 221 จุด หรือ 0.53% สู่ระดับ 42,168 จุด
นักลงทุนเริ่มให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมสัปดาห์หน้า หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 1.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 6-7 พ.ย. รวมทั้งให้น้ำหนัก 98.8% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75%
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 12,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2563 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 100,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย.
ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ทั้งนี้ การจ้างงานในเดือนต.ค.ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนเฮลีนและมิลตันที่พัดถล่มสหรัฐ รวมทั้งการผละงานประท้วงของพนักงานบริษัทโบอิ้ง
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.ย.เป็นเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 254,000 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีการจ้างงานลดลง 28,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. ขณะที่ภาครัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 40,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.0% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.4% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3%
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.6%