ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพุ่งขึ้นกว่า 200 จุด ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในคืนนี้
ณ เวลา 22.39 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 43,667.49 จุด บวก 217.59 จุด หรือ 0.5%
ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดวานนี้ร่วงลงกว่า 200 จุด โดยปรับตัวลงติดต่อกัน 9 วันทำการ ทำสถิติช่วงขาลงยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2521 ท่ามกลางความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่เร่งรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เฟดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 2.9% แต่นักลงทุนคาดการณ์ในขณะนี้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่แตะระดับต่ำดังกล่าวในเดือนธ.ค.2568 และให้น้ำหนักเพียง 30% ที่อัตราดอกเบี้ยของเฟดจะต่ำกว่าระดับ 3.75% ในช่วงปลายปี 2568
ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มการประชุมนโยบายการเงินวานนี้ ก่อนที่จะแถลงผลการประชุมในวันนี้
นักลงทุนเทน้ำหนักเกือบ 100% ต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมรอบนี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 95.4% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมวันนี้ และให้น้ำหนัก 79.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนม.ค.2568
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด หลังการประชุมวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปี 2568 รวมทั้งจับตารายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ของเจ้าหน้าที่เฟด และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP), อัตราว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ
ในการประชุมเดือนก.ย. รายงาน Dot Plot บ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1.00% ในปี 2568 และลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในปี 2569
Bespoke Investment Group ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนในนิวยอร์ก เปิดเผยว่า สถิติบ่งชี้ว่า ในช่วงที่นายเจอโรม พาวเวล ดำรงตำแหน่งประธานเฟด ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมักปรับตัวขึ้นไม่มากนักในวันซื้อขายที่ตรงกับการประชุมของเฟด เมื่อเทียบกับอดีตประธานเฟด 3 คนก่อนหน้านายพาวเวล
Bespoke ระบุว่า การปรับตัวตามสถิติดังกล่าวจะยิ่งชัดเจนขึ้นในช่วงชั่วโมงสุดท้ายของการซื้อขาย
ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยแล้ว ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นเพียง 0.11% ในวันประชุมเฟดในสมัยของนายพาวเวล เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 0.16% ในสมัยของนางเจเน็ต เยลเลน, 0.26% ในสมัยของนายอลัน กรีนสแปน และ 0.50% ในสมัยของนายเบน เบอร์นันเก้
ทางด้านแกนนำสภาคองเกรสสหรัฐได้ทำการเปิดเผยร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเมื่อวานนี้เพื่อให้สหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานของรัฐบาล หรือชัตดาวน์ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้
ร่างกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐมีงบประมาณที่จะดำเนินงานไปจนถึงวันที่ 14 มี.ค.2568 ขณะที่สภาคองเกรสมีเวลาอีกเพียงไม่กี่วันในการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่รัฐสภาจะปิดสมัยประชุมสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาส, เทศกาลฮานุกกะห์ (Hanukkah) ซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองช่วงสิ้นปีของชาวยิว และเทศกาลปีใหม่
ทั้งนี้ สภาคองเกรสจะต้องผ่านร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าว และส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามเป็นกฎหมาย ก่อนถึงเส้นตายในช่วงเที่ยงคืนวันศุกร์นี้ มิฉะนั้นสหรัฐจะเผชิญภาวะชัตดาวน์เริ่มตั้งแต่วันเสาร์นี้
ร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าวได้รวมถึงงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติวงเงินราว 1 แสนล้านดอลลาร์ และงบประมาณให้ความช่วยเหลือต่อเกษตรกรจำนวน 1 หมื่นล้านดอลลาร์
การเร่งผ่านร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าวก่อนถึงเส้นตายในวันศุกร์นี้ ทำให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก จำเป็นต้องยกเว้นข้อบังคับที่ระบุให้มีช่วงห่างเป็นเวลา 72 ชั่วโมงระหว่างการเปิดเผยร่างกฎหมายงบประมาณและการลงมติในสภา ขณะที่วุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก จำเป็นต้องมีมติเอกฉันท์ในการลดขั้นตอนสำหรับกระบวนการในสภาเพื่อให้มีการอนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวได้ทันเวลา
อย่างไรก็ดี แม้สภาคองเกรสสามารถผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวได้ทันเส้นตายวันศุกร์นี้ และทำให้สหรัฐรอดพ้นจากการถูกชัตดาวน์ แต่ก็จะส่งผลให้รัฐบาลใหม่ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ เผชิญเส้นตายการถูกชัตดาวน์ครั้งใหม่ในวันที่ 14 มี.ค.2568 ซึ่งอยู่ในช่วงการดำรงตำแหน่ง 100 วันแรกของเขา หลังเข้าทำพิธีสาบานตนในวันที่ 20 ม.ค.2568