ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะยานขึ้น 800 จุด ขานรับดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในสหรัฐ
ณ เวลา 00.54 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 43,142.70 จุด บวก 800.46 จุด หรือ 1.91%
นายออสแตน กูลสบี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก กล่าวว่า ตัวเลขดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่ต่ำกว่าคาดในวันนี้ ถือเป็นสัญญาณบวกที่บ่งชี้ว่า แรงกดดันด้านราคากำลังอ่อนตัวลงสู่เป้าหมายของเฟด
"เรายังคงอยู่บนเส้นทางไปสู่ระดับ 2% แม้ว่าเราจะไม่ให้น้ำหนักต่อดัชนี PCE ในเดือนนี้มากกว่าเดือนอื่น ๆ แต่ผมมีความหวังว่าดัชนีในเดือนนี้บ่งชี้ว่าการดีดตัวขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นเพียงการปรับตัวขึ้นในบางครั้ง ซึ่งไม่ได้แสดงถึงแนวโน้มทิศทางเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป" นายกูลสบีกล่าว
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% จากระดับ 2.3% ในเดือนต.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.2% ในเดือนต.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.9% จากระดับ 2.8% ในเดือนต.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.3% ในเดือนต.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงมีความกังวลที่ว่า สหรัฐเสี่ยงเผชิญการปิดหน่วยงานของรัฐบาล หรือชัตดาวน์ ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า หากสภาคองเกรสสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ยังคงไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว และส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามเป็นกฎหมายได้ทันก่อนเที่ยงคืนวันนี้ ตามเวลาสหรัฐ
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติวานนี้คว่ำร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวด้วยคะแนนเสียง 235 ต่อ 174 โดยมีสมาชิกพรรครีพับลิกัน 38 คนลงคะแนนเสียงคัดค้าน โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะจัดสรรงบประมาณให้รัฐบาลในวงเงินปัจจุบันไปจนถึงวันที่ 14 มี.ค.2568 และจะขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลไปจนถึงวันที่ 30 ม.ค.2570
หากสภาคองเกรสไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณฉบับใหม่ก่อนถึงเส้นตายในช่วงเที่ยงคืนวันนี้ (20 ธ.ค.) สหรัฐจะเผชิญภาวะชัตดาวน์เริ่มตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันพรุ่งนี้ (21 ธ.ค.) ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเวลา 12.01 น.ของวันพรุ่งนี้ (21 ธ.ค.) ตามเวลาไทย
หากสหรัฐเกิดภาวะชัตดาวน์ จะทำให้พนักงานซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดรัฐบาลกลางสหรัฐที่ถูกระบุว่าเป็นพนักงาน "ที่ไม่มีความจำเป็น" จะถูกพักงานชั่วคราว ขณะที่พนักงาน "ที่มีความจำเป็น" จะยังคงปฏิบัติงานต่อไป แต่จะยังไม่ได้รับค่าจ้าง จนกว่าภาวะชัตดาวน์จะสิ้นสุดลง
ก่อนหน้านี้ พนักงานรัฐบาลกลางสหรัฐราว 800,000 คนต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเวลานานถึง 35 วัน ขณะที่สหรัฐเผชิญภาวะชัตดาวน์ยาวนานเป็นประวัติการณ์ในปี 2561 และ 2562