ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 300 จุด หลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนบ่งชี้ว่าผู้บริโภคสหรัฐมีความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ขณะที่รายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐระบุว่าตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาด ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการดีดตัวของเงินเฟ้อ
ณ เวลา 00.02 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 44,444.58 จุด ลบ 303.05 จุด หรือ 0.68%
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นทะลุระดับ 4.5% ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี
ทั้งนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 67.8 ในเดือนก.พ. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 71.3 จากระดับ 71.1 ในเดือนม.ค.
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.3% และเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ระดับ 3.3%
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.3% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.2% และเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ระดับ 3.2%
ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวผันผวนในช่วงแรก โดยแกว่งตัวแดนบวกสลับแดนลบ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานสหรัฐที่ไร้ทิศทางชัดเจนในวันนี้
ทั้งนี้ สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานต่ำกว่าคาดในเดือนม.ค. แต่อัตราว่างงานก็ปรับตัวลงเช่นกัน และกระทรวงแรงงานยังได้ปรับเพิ่มตัวเลขการจ้างงานของเดือนธ.ค.ขึ้นอย่างมาก
นอกจากนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาด ซึ่งทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับการดีดตัวของเงินเฟ้อ
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 143,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 169,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 307,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค.
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.0% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.1%
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนธ.ค.เป็นเพิ่มขึ้น 307,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 256,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.1% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.8%
เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.5% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3%
ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งจะกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ นายพาวเวลมีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันที่ 11 ก.พ. ก่อนที่จะกล่าวต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12 ก.พ.
การกล่าวแถลงการณ์ทั้ง 2 วันจะมีขึ้นในเวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 22.00 น.ตามเวลาไทย
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวล เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้
ทั้งนี้ รายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุมเฟดเดือนธ.ค.2567 เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2568