ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 400 จุด หลุดแนว 44,000 โดยได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวลงของหุ้นยูไนเต็ดเฮลธ์ กรุ๊ป อิงค์
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงต่ำกว่าคาด ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อสูงกว่าคาด
ณ เวลา 22.58 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 43,771.11 จุด ลบ 405.54 จุด หรือ 0.92%
ราคาหุ้นของบริษัทยูไนเต็ดเฮลธ์ ดิ่งลงกว่า 10% ในวันนี้ หลังหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอนัลรายงานว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้ทำการสอบสวนบริษัทเกี่ยวกับการคิดค่าใช้จ่ายในโครงการ Medicare ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ยูไนเต็ดเฮลธ์ เป็นบริษัทแม่ของยูไนเต็ดเฮลธ์แคร์ ซึ่งเป็นบริษัทประกันสุขภาพรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ
รายงานระบุว่า ยูไนเต็ดเฮลธ์ ซึ่งให้บริการประกันสุขภาพภายใต้โครงการ Medicare และ Medicaid ของรัฐบาลสหรัฐสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำ ได้ทำการบันทึกค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมกำลังสอบสวนในคดีฉ้อโกงเกี่ยวกับพฤติกรรมของยูไนเต็ดเฮลธ์ในการบันทึกการวินิจฉัยโรคที่ทำให้มีการคิดรายจ่ายพิเศษสำหรับโครงการ Medicare Advantage ซึ่งเป็นโครงการที่มีการนำเสนอโดยบริษัทประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามโครงการ Medicare แบบธรรมดา
นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมยังทำการฟ้องยูไนเต็ดเฮลธ์เพื่อสกัดแผนการของบริษัทในการซื้อกิจการ Amedisys Inc เนื่องจากกังวลว่าธุรกรรมดังกล่าวจะลดการแข่งขันในตลาดให้บริการประกันสุขภาพ
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.4 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน จากระดับ 52.7 ในเดือนม.ค.
ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคการผลิต แต่ดัชนี PMI ถูกกดดันจากการหดตัวของภาคบริการ
ทั้งนี้ คำสั่งซื้อใหม่ดิ่งลงอย่างหนัก ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2565 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลสหรัฐ
ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน จากระดับ 51.2 ในเดือนม.ค. โดยดัชนี PMI อยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคการผลิต
ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 49.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 25 เดือน จากระดับ 52.9 ในเดือนม.ค. โดยดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการอยู่ในภาวะหดตัว
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 64.7 ในเดือนก.พ. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 67.8 จากระดับ 71.1 ในเดือนม.ค.
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ระดับ 3.3%
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.5% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.3% และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ระดับ 3.2%