ดัชนีดาวโจนส์พลิกดีดตัวสู่แดนบวก ขานรับตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ณ เวลา 22.20 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 42,492.08 จุด บวก 37.29 จุด หรือ 0.09%
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2567 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.4% ในไตรมาสดังกล่าว สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.3%
การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2567 ได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งพุ่งขึ้น 4% ในไตรมาสดังกล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 224,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 226,000 ราย
ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 100 จุดในช่วงแรก นำโดยหุ้นกลุ่มรถยนต์ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์วานนี้
ทั้งนี้ ราคาหุ้นของบริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ (GM) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ดิ่งลงกว่า 7% ขณะที่ราคาหุ้นบริษัท สเตลแลนติส หรือเดิมชื่อบริษัท เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิล ร่วงลงเกือบ 4% ส่วนราคาหุ้นบริษัท ฟอร์ด ปรับตัวลงเกือบ 1%
ปธน.ทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารวานนี้เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตรา 25% จากเดิมที่ระดับ 2.5% โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย.
ปธน.ทรัมป์หวังว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้บริษัทรถยนต์ย้ายฐานการผลิตกลับมายังสหรัฐ ซึ่งจะช่วยสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล รวมทั้งช่วยลดหนี้สาธารณะของประเทศ
นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์เตรียมเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ในวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งนายสก็อต เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีดังกล่าวต่อกลุ่มประเทศ "Dirty 15" หรือ 15 ประเทศที่เกินดุลการค้าสูงสุดต่อสหรัฐ
แม้ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ 15 ประเทศดังกล่าว แต่ข้อมูลจากสำนักงานสำมะโนประชากรของสหรัฐ (US Census Bureau) ระบุว่า 15 ประเทศที่เกินดุลการค้าสูงสุดต่อสหรัฐ (เรียงตามวงเงินเกินดุล) ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป เม็กซิโก เวียดนาม ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา อินเดีย ไทย สวิตเซอร์แลนด์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และแอฟริกาใต้
ส่วนข้อมูลจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ระบุว่า ประเทศที่เกินดุลการค้าสูงสุดต่อสหรัฐ (เรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ) ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ไทย ตุรกี สหราชอาณาจักร และเวียดนาม
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ
ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.5% เช่นกันในเดือนม.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนก.พ. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.3% เช่นกันในเดือนม.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนม.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนก.พ. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.3% เช่นกันในเดือนม.ค.