ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทรุดตัวลงกว่า 700 จุด หลังการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐที่ต่ำกว่าคาด
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและการทำสงครามการค้าของสหรัฐ
ณ เวลา 00.10 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 41,564.28 จุด ลบ 735.42 จุด หรือ 1.74%
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 57.0 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2565 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 57.9 จากระดับ 64.7 ในเดือนก.พ.
ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 5.0% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก.พ.ที่ระดับ 4.3%
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.1% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก.พ.ที่ระดับ 3.5%
นักลงทุนจับตาการทำสงครามการค้าของสหรัฐ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% เมื่อวันพุธ และมีแผนเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ในวันที่ 2 เม.ย.ต่อกลุ่มประเทศ "Dirty 15" หรือ 15 ประเทศที่เกินดุลการค้าสูงสุดต่อสหรัฐ
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.5% ในเดือนม.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนก.พ. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.3% ในเดือนม.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.7% จากระดับ 2.7% ในเดือนม.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.พ. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.3% ในเดือนม.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)