ดาวโจนส์ดิ่งกว่า 1,000 จุดเป็นวันที่ 2 ผวาเทรดวอร์ลาม หลังจีนสวนหมัดสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 4, 2025 21:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 1,000 จุดเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่นักลงทุนกังวลต่อการลุกลามของการทำสงครามการค้าทั่วโลก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจถดถอย หลังจากที่จีนประกาศเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐ เพื่อตอบโต้ต่อการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ต่อจีนก่อนหน้านี้

ณ เวลา 20.49 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 39,513.05 จุด ลบ 1,032.88 จุด หรือ 2.55%

ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นกว่า 50% ในวันนี้ หลังจากที่จีนประกาศเรียกเก็บภาษีตอบโต้สหรัฐ

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า กระทรวงการคลังของจีนแถลงในวันนี้ว่า ทางกระทรวงฯ จะเรียกเก็บภาษี 34% ต่อสินค้านำเข้าทั้งหมดที่มาจากสหรัฐ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.

ทั้งนี้ จีนออกมาตรการดังกล่าวเพื่อตอบโต้ต่อการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ในอัตรา 34% ต่อสินค้าที่นำเข้าจากจีน ซึ่งเมื่อรวมกับมาตรการเรียกเก็บภาษีที่สหรัฐบังคับใช้กับจีนอยู่แล้ว จะทำให้จีนต้องเผชิญกับอัตราภาษีรวมจากสหรัฐสูงถึง 54%

นายคาร์ล ไวน์เบิร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก High Frequency Economics เปิดเผยว่า นโยบายเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐราว 10% ในไตรมาส 2/2568 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว -3.7% ในไตรมาส 1/2568

นายไวน์เบิร์กคาดการณ์ว่า มาตรการภาษีของปธน.ทรัมป์จะส่งผลให้รายได้ของภาคครัวเรือนและกำไรของภาคธุรกิจหายไปราว 7.41 แสนล้านดอลลาร์ และตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นอีก หากรวมถึงผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากแคนาดาและเม็กซิโก

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่พุ่งขึ้น โดยราคาของไม้เนื้ออ่อนนำเข้าจะสูงขึ้นถึง 25%

เจพีมอร์แกน วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ ออกรายงานระบุว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะถดถอยในปีนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 60% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 40% หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ต่อประเทศคู่ค้า

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในการประชุมประจำปีของ Society for Advancing Business Editing and Writing (SABEW) ที่เมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย

นายพาวเวลจะกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าวในวันนี้ เวลา 11.25 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเวลา 22.25 น.ตามเวลาไทย

นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวล เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ต่อประเทศคู่ค้า

นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 5 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม กันยายน ตุลาคม และธันวาคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐที่คาดว่าจะประสบภาวะถดถอยจากการดำเนินมาตรการเรียกเก็บภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 60.8% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนพ.ค.

นอกจากนี้ FedWatch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือนมิ.ย., ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมเดือนก.ค., ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.50-3.75% ในการประชุมเดือนก.ย. และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.25-3.50% ในการประชุมเดือนต.ค. และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมเดือนธ.ค.

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 228,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 139,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 117,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ.

ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.2% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.1%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ