ดาวโจนส์ดิ่งเหวกว่า 1,700 จุด ผิดหวัง "พาวเวล" ส่งสัญญาณไม่รีบลดดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday April 5, 2025 00:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 1,700 จุด หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ณ เวลา 00.09 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 38,823.54 จุด ลบ 1,722.39 จุด หรือ 4.25%

ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นกว่า 50% ในวันนี้ หลังจากที่จีนประกาศเรียกเก็บภาษีตอบโต้สหรัฐ

ทั้งนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น และชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี นายพาวเวลย้ำว่า เฟดจะยังไม่ดำเนินการปรับอัตราดอกเบี้ย จนกว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบในท้ายที่สุด

นายพาวเวลกล่าวถ้อยแถลงดังกล่าวในการกล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในการประชุมประจำปีของ Society for Advancing Business Editing and Writing (SABEW) ที่เมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนียในวันนี้

ก่อนการกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าว ปธน.ทรัมป์เรียกร้องให้นายพาวเวลทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และหยุดเล่นการเมือง

นายพาวเวลกล่าวในวันนี้ว่า เฟดกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างมาก หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ต่อประเทศคู่ค้าเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

แม้นายพาวเวลระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่ง แต่เขาก็ย้ำถึงความเสี่ยงจากการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว ขณะที่เฟดจะให้ความสนใจต่อการควบคุมเงินเฟ้อ

"เรามีภารกิจในการรักษาคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวให้อยู่ภายใต้การควบคุม และสร้างความมั่นใจว่าการเพิ่มขึ้นของราคาในช่วงเวลาหนึ่งจะไม่กลายเป็นปัญหาเงินเฟ้อในระยะยาว"

"เราจะรอคอยต่อไปเพื่อให้เห็นความชัดเจนมากขึ้น ก่อนที่จะทำการปรับเปลี่ยนใด ๆ ต่อจุดยืนด้านนโยบายของเรา ซึ่งขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าทิศทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินจะเป็นอย่างไร"

นอกจากนี้ นายพาวเวลตั้งข้อสังเกตว่าอัตราภาษีนำเข้าที่ปธน.ทรัมป์ประกาศไปนั้น ถือว่ามากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้

"สิ่งนี้ก็จะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งรวมถึงการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ขณะที่ขนาดและช่วงเวลาของผลกระทบเหล่านี้ยังคงไม่มีความชัดเจน"

ทั้งนี้ การที่เฟดให้ความสำคัญมากขึ้นต่อการควบคุมเงินเฟ้อจะทำให้เฟดมีแนวโน้มน้อยลงในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน จนกว่าเฟดจะสามารถประเมินผลกระทบของมาตรการภาษีที่มีต่อราคาสินค้าในระยะยาว

ที่ผ่านมา เฟดมักมองว่ามาตรการทางภาษีจะส่งผลกระทบเพียงชั่วคราวต่อราคา และไม่ใช่ปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อ แต่มาตรการทางภาษีที่ปธน.ทรัมป์ใช้ในครั้งนี้ซึ่งมีขอบเขตในวงกว้างทำให้เฟดเปลี่ยนมุมมองดังกล่าว

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า กระทรวงการคลังของจีนแถลงในวันนี้ว่า ทางกระทรวงฯ จะเรียกเก็บภาษี 34% ต่อสินค้านำเข้าทั้งหมดที่มาจากสหรัฐ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.

ทั้งนี้ จีนออกมาตรการดังกล่าวเพื่อตอบโต้ต่อการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ในอัตรา 34% ต่อสินค้าที่นำเข้าจากจีน ซึ่งเมื่อรวมกับมาตรการเรียกเก็บภาษีที่สหรัฐบังคับใช้กับจีนอยู่แล้ว จะทำให้จีนต้องเผชิญกับอัตราภาษีรวมจากสหรัฐสูงถึง 54%

นายคาร์ล ไวน์เบิร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก High Frequency Economics เปิดเผยว่า นโยบายเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐราว 10% ในไตรมาส 2/2568 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว -3.7% ในไตรมาส 1/2568

นายไวน์เบิร์กคาดการณ์ว่า มาตรการภาษีของปธน.ทรัมป์จะส่งผลให้รายได้ของภาคครัวเรือนและกำไรของภาคธุรกิจหายไปราว 7.41 แสนล้านดอลลาร์ และตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นอีก หากรวมถึงผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากแคนาดาและเม็กซิโก

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่พุ่งขึ้น โดยราคาของไม้เนื้ออ่อนนำเข้าจะสูงขึ้นถึง 25%

เจพีมอร์แกน วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ ออกรายงานระบุว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะถดถอยในปีนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 60% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 40% หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ต่อประเทศคู่ค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ