ดัชนีดาวโจนส์พลิกดีดตัวสู่แดนบวก หลังร่วงลงกว่า 200 จุดในช่วงแรก ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน ขณะที่นักลงทุนจับตาการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
ณ เวลา 23.03 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 39,643.90 จุด บวก 50.24 จุด หรือ 0.13%
รัฐบาลจีนประกาศเพิ่มการเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐในอัตรา 125% จากเดิมที่ระดับ 84% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย.
สหภาพยุโรป (EU) แถลงว่า นายมารอส เซฟโควิช ประธานกรรมาธิการการค้ายุโรป จะเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซีในวันที่ 13 เม.ย. ก่อนที่จะทำการเจรจากับเจ้าหน้าที่สหรัฐในวันที่ 14 เม.ย. โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บระหว่างทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้ นายกิลล์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าสหรัฐกำลังต้องการอะไรจาก EU แต่การที่สหรัฐชะลอการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ออกไป จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสในการเจรจาเพื่อให้มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าววานนี้ว่า EU จะชะลอการใช้มาตรการตอบโต้การเรียกเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐออกไปอีก 90 วัน เพื่อเปิดทางสำหรับการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางการค้าของทั้งสองฝ่าย
การตัดสินใจดังกล่าวของ EU มีขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) เป็นเวลา 90 วัน ส่งผลให้มีการระงับการเรียกเก็บภาษี 20% ต่อสินค้านำเข้าจาก EU โดยมีการปรับลดลงมาเหลือเพียง 10% เป็นเวลา 90 วัน เช่นเดียวกับประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ของสหรัฐ ยกเว้นจีน
ก่อนหน้านี้ EU ให้การอนุมัติต่อมาตรการตอบโต้ต่อการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจาก EU ในอัตรา 20% โดย EU จะเรียกเก็บภาษีต่อสินค้าส่วนใหญ่จากสหรัฐในอัตรา 25% ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึง ถั่วเหลือง สัตว์ปีก ยาสูบ เหล็กและอะลูมิเนียม โดยสินค้าเหล่านี้คิดเป็นมูลค่าราว 2.2 หมื่นล้านยูโรในปีที่แล้ว
EU จะเรียกเก็บภาษีต่อสินค้าจากสหรัฐเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก จะเรียกเก็บภาษีต่อแครนเบอร์รีและน้ำส้ม โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 เม.ย. ส่วนระยะที่ 2 จะเรียกเก็บภาษีต่อเหล็ก เนื้อ ช็อกโกแลตขาว และสารโพลีเอทิลีน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 พ.ค. ส่วนระยะที่ 3 จะเรียกเก็บภาษีต่ออัลมอนด์และถั่วเหลือง โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค.
กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนมี.ค.ในวันนี้
ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.2% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมี.ค. จากระดับ 0.0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนก.พ.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 3.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.4% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือนก.พ.
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 50.8 ในเดือนเม.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 54.6 จากระดับ 57.0 ในเดือนมี.ค.
ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 6.7% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2524 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมี.ค.ที่ระดับ 5.0%
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.4% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2534 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมี.ค.ที่ระดับ 4.1%