ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะยานกว่า 300 จุด ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน ขณะที่นักลงทุนจับตาการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
ณ เวลา 00.30 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 39,907.63 จุด บวก 313.97 จุด หรือ 0.79%
รัฐบาลจีนประกาศเพิ่มการเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐในอัตรา 125% จากเดิมที่ระดับ 84% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย.
สหภาพยุโรป (EU) แถลงว่า นายมารอส เซฟโควิช ประธานกรรมาธิการการค้ายุโรป จะเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซีในวันที่ 13 เม.ย. ก่อนที่จะทำการเจรจากับเจ้าหน้าที่สหรัฐในวันที่ 14 เม.ย. โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บระหว่างทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้ นายกิลล์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าสหรัฐกำลังต้องการอะไรจาก EU แต่การที่สหรัฐชะลอการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ออกไป จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสในการเจรจาเพื่อให้มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายตั้งกำแพงภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ
ทั้งนี้ นายพาวเวลมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในงานเสวนาว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐกิจแห่งชิคาโก (Economic Club of Chicago) ในวันพุธที่ 16 เม.ย. เวลา 13.30 น. ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 17 เม.ย. เวลา 00.30 น.ตามเวลาไทย
นายแลร์รี ฟิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแบล็คร็อค บริษัทบริหารสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวว่า เขาคิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังอ่อนแอลงจนถึงขั้นการขยายตัวอาจติดลบแล้ว
"ผมคิดว่าเราเข้าใกล้ถึงขั้นนั้นแล้ว หากไม่ใช่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในขณะนี้" นายฟิงค์กล่าวต่อสำนักข่าว CNBC
นายฟิงค์กล่าวว่า แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขยายเวลาระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ออกไป 90 วัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรื้อฟื้นความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
"ผมคิดว่าเราจะเห็นเศรษฐกิจชะลอตัวลงในวงกว้างจนกว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น และการขยายเวลาออกไป 90 วันก็จะเป็นการเพิ่มช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน" นายฟิงค์กล่าว
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว -2.4% ในไตรมาส 1/2568
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. GDPNow คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว +2.3% ในไตรมาส 1/2568
ทั้งนี้ ในปี 2567 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.4% ในไตรมาส 1, 3.0% ในไตรมาส 2, 3.1% ในไตรมาส 3 และ 2.4% ในไตรมาส 4
กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนมี.ค.ในวันนี้
ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.2% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมี.ค. จากระดับ 0.0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนก.พ.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 3.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.4% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือนก.พ.
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 50.8 ในเดือนเม.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 54.6 จากระดับ 57.0 ในเดือนมี.ค.
ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 6.7% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2524 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมี.ค.ที่ระดับ 5.0%
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.4% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2534 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมี.ค.ที่ระดับ 4.1%