โดยปัจจัยที่สนับสนุนอันดับเครดิต ได้แก่ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน และ อันดับเครดิตภายในประเทศ
ทั้งนี้ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศของ TMB นั้น ได้มีการพิจารณาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนอยู่ในอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TMB พิจารณาถึงอัตรากำไรก่อนการสำรองหนี้สงสัยจะสูญ (pre-provisioning profitability) และคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น และฟิทช์คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงสถานะในด้านการระดมทุนและสภาพคล่องของธนาคารที่อยู่ในระดับที่ดี
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการเงินโดยรวมของ TMB ยังคงอยู่ในระดับที่ด้อยกว่าบ้างเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศและต่างประเทศ การปรับตัวดีขึ้นของอัตราส่วนกำไร เช่น อัตราส่วนส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) และกำไรจากการดำเนินงานก่อนสำรองหนี้สงสัยจะสูญ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นของการเติบโตของสินเชื่อ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญน่าจะปรับตัวลดลงกลับมาอยู่ในระดับปรกติจากการที่ธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จของธนาคารที่ได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลงเป็น 4.8% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 เมื่อเทียบกับ 7.5% ณ สิ้นปี 2554 เนื่องจากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มเติมในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 และการเติบโตของสินเชื่อ
ในขณะเดียวกันอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 131.9% จาก 79.9% แม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ TMB จะยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกันธนาคารพาณิชย์อื่น แต่อัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารได้ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศและอยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ ปัจจัยดังกล่าวนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญกับคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับตัวอ่อนแอลงของสภาวะแวดล้อมการดำเนินงาน เนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูง อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่า TMB ยังคงมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี