นักวิเคราะห์ระบุว่า สภาคองเกรสสหรัฐจะรับบทเป็นซานตาคลอส มอบของขวัญแก่นักลงทุนทั่วโลกด้วยการผลักดันตลาดหุ้นขึ้นจากการโหวตลงมติเห็นชอบมาตรการปฏิรูปภาษีในสัปดาห์นี้ ก่อนที่ซานต้า แรลลี่ของจริงจะเริ่มขึ้นในวันศุกร์นี้
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติต่อร่างกฎหมายดังกล่าวในวันนี้ ก่อนที่วุฒิสภาจะลงมติในวันพรุ่งนี้
นักลงทุนคาดว่าสภาคองเกรสจะอนุมัติร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี ก่อนที่จะส่งต่อไปให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามรับรองเป็นกฎหมายก่อนวันคริสต์มาส
ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดวานนี้พุ่งขึ้น 140.46 จุด หรือ 0.57% สู่ระดับ 24,792.20 จุด จากความคาดหวังที่ว่าสภาคองเกรสจะผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีในสัปดาห์นี้ ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์มีแนวโน้มทะยานขึ้นเหนือระดับ 25,000 จุดในไม่ช้า
การดีดตัวของดัชนีดาวโจนส์เมื่อวานนี้ ส่งผลให้ดัชนีพุ่งขึ้น 25% ตั้งแต่ต้นปีนี้ และเป็นการทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นครั้งที่ 70 ของปีนี้
ดัชนีดาวโจนส์สามารถพุ่งขึ้นกว่า 200 จุดในการซื้อขายระหว่างวันเมื่อวานนี้ ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ทำสถิติทะยานมากกว่า 5,000 จุดในปีนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นนิวยอร์ก นับตั้งแต่ก่อตั้งมานาน 121 ปี
ตามสถิติที่ผ่านมา ซานต้า แรลลี่ของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะเกิดขึ้นเป็นเวลา 7 วันทำการ โดยมีขึ้นในช่วง 5 วันทำการสุดท้ายของปีปัจจุบัน รวมทั้ง 2 วันแรกของปีใหม่ ซึ่งในปีนี้ ซานต้า แรลลี่ จะเริ่มในวันศุกร์นี้ เนื่องจากตลาดวอลล์สตรีทจะปิดทำการในวันจันทร์หน้า เนื่องในวันคริสต์มาส
จากการรวบรวมสถิติการปรับตัวของตลาดหุ้นนิวยอร์กช่วง 7 วันของซานต้า แรลลี่ พบว่า ดัชนีดาวโจนส์สามารถปิดตลาดในแดนบวกถึง 78% นับตั้งแต่ปี 2471 หรือในช่วงเวลาเกือบ 90 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พรรครีพับลิกันได้เปิดเผยรายละเอียดขั้นสุดท้ายของร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี ซึ่งมาจากการรวมเนื้อหาของร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีที่ผ่านการอนุมัติของวุฒิสภาและ สภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้ โดยร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้ายจะยังคงจำนวนขั้นบันไดของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ที่ 7 ขั้น คือที่ระดับ 10%, 12%, 22%, 24%, 32%, 35% และ 37% โดยลดอัตราภาษีขั้นสูงสุดสู่ระดับ 37% จากระดับ 39.6% ขณะเดียวกัน จะปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% โดยมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า แทนที่จะชะลอออกไปอีก 1 ปีตามร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของวุฒิสภา
หากร่างกฎหมายดังกล่าวสามารถผ่านสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ ก็จะถือเป็นการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2529 หรือกว่า 30 ปี และจะถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสนับตั้งแต่ที่ปธน.ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในเดือนม.ค.