ตลาดหุ้นยุโรป,ปอนด์พลิกร่วงวันนี้ วิตกสภาอังกฤษคว่ำข้อตกลง Brexit

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 12, 2019 20:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นยุโรปและปอนด์ต่างก็ร่วงลงในวันนี้ แม้ดีดตัวขึ้นในช่วงแรก โดยได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อการที่รัฐสภาอังกฤษอาจคว่ำข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในวันนี้ หลังจากที่อัยการสูงสุดของอังกฤษออกมาเตือนว่า ข้อตกลงดังกล่าวยังคงมีความเสี่ยงทางกฎหมาย

ในช่วงแรก ตลาดหุ้นยุโรปและปอนด์ได้รับแรงหนุนจากข่าวที่ว่า นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้รับความเห็นชอบจากผู้นำสหภาพยุโรป (EU) ให้ทำการเปลี่ยนแปลงข้อตกลง Brexit โดยมีผลผูกพันทางกฏหมาย ทำให้นักลงทุนมีความหวังว่า อังกฤษจะแยกตัวจาก EU โดยมีการบรรลุข้อตกลง

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นและค่าเงินปอนด์ได้พลิกปรับตัวลง หลังจากที่นายเจฟฟรีย์ ค็อกซ์ อัยการสูงสุดของอังกฤษ ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวยังคงมีความเสี่ยงทางกฎหมาย ส่งผลให้ดัชนี STOXX 600 ของตลาดหุ้นยุโรปอ่อนตัวลง 0.2% หลังจากดีดตัว 0.4% ในช่วงแรก ขณะที่ปอนด์ทรุดตัวลง 1.2% เทียบยูโร และร่วงลง 0.8% และ 0.7% เทียบดอลลาร์ และเยนตามลำดับ

นักวิเคราะห์ระบุว่า นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะประสบความพ่ายแพ้ในวันนี้ หากยังคงเดินหน้าให้รัฐสภาลงมติต่อข้อตกลง Brexit

"หากนางเมย์เดินหน้าให้สภาโหวตข้อตกลง Brexit ในวันนี้ หลังจากที่มีการแสดงความเห็นจากอัยการสูงสุด นางเมย์ก็จะประสบกับความพ่ายแพ้ โดยอาจแพ้ด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 100 เสียง" นายคริส ไซคลูนา นักวิเคราะห์จากไดวา แคปิตัล มาร์เก็ตส์ กล่าว

ทั้งนี้ นายเจฟฟรีย์ ค็อกซ์ อัยการสูงสุดของอังกฤษ เผยแพร่ความเห็นของเขาเกี่ยวกับข้อตกลง Brexit ฉบับล่าสุดที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทำไว้กับผู้นำ EU เมื่อวานนี้

ความเห็นของนายค็อกซ์ถือว่ามีความสำคัญในการชี้นำการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาอังกฤษที่มีกำหนดลงมติต่อข้อตกลงดังกล่าวในวันนี้เวลา 19.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือคืนนี้ 02.00 น.ตามเวลาไทย

ทั้งนี้ นายค็อกซ์เตือนว่า ความเสี่ยงทางด้านกฎหมายต่อข้อตกลง Brexit ยังคงมีอยู่ แม้ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการปรับปรุงแก้ไขหลังจากที่นางเมย์ทำการเจรจากับผู้นำ EU เมื่อคืนนี้

นายค็อกซ์ระบุว่า ข้อตกลง Brexit ดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้อังกฤษมีช่องทางตามกฎหมายในการยกเลิกนโยบาย backstop แต่เพียงฝ่ายเดียว

การแสดงความเห็นในเชิงลบของนายค็อกซ์ต่อข้อตกลง Brexit ดังกล่าว ทำให้นักลงทุนเกิดความวิตกว่าจะทำให้รัฐสภาอังกฤษลงมติคว่ำข้อตกลง Brexit อีกครั้งในวันนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้อังกฤษแยกตัวจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง

ทั้งนี้ นางเมย์ได้รับความเห็นชอบจากผู้นำ EU ให้ทำการเปลี่ยนแปลงข้อตกลง Brexit โดยมีผลผูกพันทางกฏหมาย ซึ่งรวมถึงนโยบาย backstop ซึ่งเป็นนโยบายในการรับประกันว่า จะไม่มีการกลับไปใช้มาตรการควบคุมชายแดนอย่างเข้มงวดระหว่างไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป

ที่ผ่านมา กลุ่มผู้สนับสนุนให้อังกฤษแยกตัวจาก EU มีความกังวลว่า การใช้นโยบาย backstop จะเป็นการผูกมัดให้อังกฤษจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของ EU อย่างไม่มีกำหนด

ทางด้านนางเมย์กล่าวยืนยันว่า "การใช้ถ้อยคำใหม่ในข้อตกลง Brexit จะเป็นการค้ำประกันว่า EU จะไม่สามารถใช้นโยบาย backstop อย่างไม่มีกำหนด โดยข้อตกลงที่มีการปรับปรุงใหม่จะเป็นการให้การค้ำประกันซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมายว่า นโยบาย backstop จะมีการใช้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น และอังกฤษมีทางเลือกที่จะไม่ใช้นโยบายดังกล่าว หาก EU ไม่มีเจตนาดีในการเจรจากับอังกฤษ"

นอกจากนี้ อังกฤษและ EU ยังได้ตกลงกันที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดความจำเป็นในการตั้งด่านตรวจระหว่างไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์

ก่อนหน้านี้ รัฐสภาอังกฤษลงมติด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย 432 ต่อ 202 เสียงในเดือนม.ค. คว่ำร่างข้อตกลง Brexit ของนางเมย์ ส่งผลให้นางเมย์เป็นผู้นำรัฐบาลอังกฤษที่ประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดในรัฐสภาในรอบ 95 ปี และหากรัฐสภามีมติคว่ำข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้งในวันนี้ นางเมย์ก็จะเสนอให้รัฐสภาเลือกระหว่างการแยกตัวออกจาก EU โดยไร้ข้อตกลง หรือจะเรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเวลาการแยกตัวจากเดิมในวันที่ 29 มี.ค.

หากรัฐสภาอังกฤษคว่ำข้อตกลง Brexit อีกครั้งในวันนี้ รัฐสภาก็จะทำการลงมติในวันพรุ่งนี้ว่าจะเห็นชอบต่อการที่อังกฤษแยกตัวออกจาก EU โดยไร้ข้อตกลงหรือไม่ ซึ่งหากรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบ ก็จะทำการลงมติในวันพฤหัสบดีว่าจะเรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเวลาการแยกตัวจากเดิมในวันที่ 29 มี.ค.หรือไม่ ซึ่งหากรัฐสภามีมติเรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเวลาออกไป รัฐบาลก็จะต้องทำการเจรจากับ EU ในเรื่องดังกล่าว แต่หากรัฐสภามีมติไม่เรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเวลาออกไป อังกฤษก็จะแยกตัวจาก EU อย่างเป็นทางการตามกำหนดเดิมในวันที่ 29 มี.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ